Play Video

เช้าหนึ่งที่ลมทะเลพัดเอาไอเย็นเหนือผืนน้ำจากอ่าวเปอร์เซียลัดเลาะมาตามสายน้ำที่กัดกินแผ่นดินเว้าแหว่งเข้ามาโชยผ่านใบหน้าและพาให้ชายเสื้อคลุมที่สวมกันลมปลิวสะบัดเบาๆ ขณะเดินทอดน่องไปตามริมถนนเลียบลำน้ำ ผู้คนบ้างเดิน บ้างวิ่งเหยาะ บ้างจูงสุนัขออกมาเดินเล่นรับลมเย็นและอากาศสดชื่นสวนมาเป็นระยะ แรกทีเดียวนั้น ฉันคาดหวังว่าจะได้เห็นชาวอาหรับในชุดคาฟทานยาวคลุมพื้น หรือไม่ก็หญิงสาวที่ปกปิดใบหน้าด้วยฮิญาบอย่างที่พบเห็นในเมืองอาหรับมุสลิมทั่วไป แต่เปล่าเลย ซ้ายขวาหน้าหลังกลับกลายเป็นชาวตะวันตกผิวขาวผมทองในชุดออกกำลังกายทะมัดทะแมงเสียแทบจะทั้งหมด ไม่เห็นมีวี่แววของชนชาวอาหรับอย่างที่คิดไว้เลยสักคน

“ไม่ค่อยมีคนดูไบแท้ๆออกมาเดินหรอกค่ะ คนส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติที่มาทำงานที่นี่เสียมากกว่า” เพื่อนร่วมทริปชาวไทยที่ทำงานอยู่ในดูไบบอกมาอย่างนั้น ซึ่งน่าจะจริง เพราะตั้งแต่เดินมาก็เห็นมีแต่ชาวต่างชาติทั้งนั้น ยิ่งเราพักอยู่ในย่านท่าเช่าเรือยอร์ช (Yatch Rental Dubai) ซึ่งเป็นย่านของชาวต่างชาติด้วยแล้ว ก็แทบจะไม่เจอคนท้องถิ่นเลย เผลอๆนึกว่ากำลังเดินอยู่ที่พอร์ตแลนด์มากกว่าดูไบเสียด้วยซ้ำ

ฉันเดินคนเดียวเรื่อยเปื่อยไปบนถนนเลียบลำน้ำของ Marina Walk Water Bus Station เพื่อสำรวจบ้านเมืองในเช้าแรกที่ดูไบ ฝั่งขวาเป็นท่าเรือที่มีเรือยอร์ชน้อยใหญ่จอดเทียบท่าเรียงรายทั่วไปตามริมตลิ่ง เหมือนกำลังเข้าแถวอวดโฉมรอให้ผู้คนมาเลือกไปชื่นชม ส่วนฝั่งซ้ายเต็มไปด้วยตึกสูงแทงยอดแข่งกันขึ้นไปบนอากาศ ที่อยู่มานานก็ถูกตึกใหม่ๆหน้าตาสะสวยแซงหน้าขึ้นไป ที่กำลังลงเสาก่อสร้าง เตรียมเร่งสปีดขึ้นมาก็มีอีกไม่น้อย ดูตั้งใจจะแข่งกันทั้งด้านความสูงและหน้าตาที่สถาปนิกผู้ออกแบบแต่ละคน หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องเป็นตึกสูง ทรงสวย แปลกตากว่าใครเพื่อน ดูๆไปก็สมกับที่เป็นหนึ่งใน 7 รัฐของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates หรือ UAE) ประเทศที่มั่งคั่ง และเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

Dubai Day & Night
วิถีแบบตั้งเดิม ตลาดโบราณ ศูนย์การค้า และชีวิตหรูหราบนตึกสูง

หลังเดินเล่นออกกำลังชมเมืองที่เหมือนพรีวิวเล็กๆ ซื้อของในซูเปอร์มาเก็ตขึ้นมาปรุงเป็นอาหารเช้าเติมพลังเรียบร้อย เราก็พร้อมออกเดินทางไปชมเมืองดูไบกันแบบจริงจัง

เรานั่งรถรางไฟฟ้าจากที่พักริมอ่าวเข้าไปในเมืองกัน ระหว่างทางผ่านตึกสูงทรงแปลกตามากมายที่เรียงรายอยู่สองข้างทาง ตึกที่ดูไบดูจะแปลกตากว่าตึกสูงในเมืองใหญ่อื่นๆของโลกที่เคยไปมา ถึงจะมีความทันสมัยเหมือนกัน แต่ลักษณะรูปทรงทางสถาปัตยกรรมของที่นี่ เหมือนกำลังตะโกนบอกผู้คนว่า “ดูฉันสิ นี่ไง ฉันแปลก ฉันไม่เหมือนใคร เคยเห็นอะไรแบบนี้หรือเปล่า” ด้วยลูกเล่นของการออกแบบที่เหมือนจะตั้งใจอวดกันชัดๆ ทั้งตึกที่มีรูปทรงโค้งแบบ ออร์แกนิก บางตึกบิดเป็นเกลียว บางตึกตกแต่งผนังด้านนอกด้วยรายละเอียดและวัสดุแปลกตา เหมือนคนแต่งตัวจัดที่ชอบประโคมเครื่องประดับเต็มที่อย่างที่เขาเรียกว่าพวกเศรษฐีใหม่ ซึ่งตัวเมืองเองก็เหมือนจะเป็นแบบนั้น เพราะเป็นกลุ่มประเทศเกิดใหม่มีอายุไม่นานที่ร่ำรวยมาจากทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างน้ำมัน ตึกกว่าครึ่งเมืองจะว่าสวยก็ไม่เชิง จะว่าประหลาดก็ได้

เราลงจากรถไฟแล้วเดินเท้าต่อลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยที่เป็นอาคารตึกแถวสูงไม่กี่ชั้น แหงนมองขึ้นไปเห็นยอดโดมแบบอาหรับดั้งเดิมอย่างที่เคยคุ้นอยู่ไม่ไกล ผิดจากตึกสูงเสียดฟ้าทันสมัยเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา ย่านนี้น่าจะเป็นย่านเมืองเก่า Al Fahidi Historical District ซึ่งเป็นย่านชุมชนสำคัญที่มีอายุร่วมร้อยปีนับตั้งแต่การอพยพมาก่อตั้งเมืองดูไบเมื่อศตวรรษที่ 18 เราเดินทะลุผ่านสองข้างทางที่เป็นตึกแถวไม่นาน ก็มาถึงคาเฟ่เก๋ไก๋ Al Bait Al Qadeem แถวนี้น่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ย่านในดูไบ ที่มีร้านอาหารและคาเฟ่แบบดั้งเดิมให้ได้เดินเล่นเที่ยวชมและนั่งชิลล์จิบชาอาหรับแกล้มขนมพื้นเมือง เพราะพื้นที่อื่นส่วนใหญ่ในดูไบจะเป็นตึกสูงที่อยู่ห่างกันเสียโดยมาก ทั้งระยะทางและอากาศร้อนจัดในตอนกลางวันทำให้ต้องเดินทางด้วยรถไฟและรถยนต์เท่านั้น ดูไบดูจึงจะไม่ใช่เมืองที่เหมาะกับการท่องเที่ยวแบบ cafe hopping ชิลล์ๆสักเท่าไหร่

Travel Info

  • การเดินทางไปยังดูไบ, อาบู ดาบี และรัฐอื่นๆในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ต้องใช้วีซ่ารับรอง ซึ่งนอกจากวีซ่าราชการและวีซ่าสถานทูตแล้ว สถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทยไม่มีบริการรับคำร้องขอวีซ่าทั่วไป ต้องขอผ่านสายการบิน โรงแรมที่พัก หรือตัวแทนที่อยู่อาศัยในกลุ่มประเทศ UAE เท่านั้น สามารถดูรายละเอียดจากเว็บไซต์สถานทูตไทย ณ กรุงอาบู ดาบีได้ที่ www.thaiembassy.org/abudhabi/

  • ปัจจุบันมีสายการบินหลายสายบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-ดูไบ และ กรุงเทพฯ-อาบู ดาบี ส่วนสายการบินสัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทั้งหมด จะมีบริการรับยื่นคำร้องขอวีซ่าด้วย และค่าบริการขอวีซ่าผ่านสายการบินเหล่านี้จะถูกกว่าการยื่นขอผ่านตัวแทนอื่น ๆ แต่มีข้อแม้ว่าต้องใช้บริการสายการบินของเขาเท่านั้นจึงจะสามารถใช้บริการนี้ได้ สายการบินเอมิเรตส์คือสายการบินหลัก ถ้าเดินทางโดยสายการบินเอมิเรตส์ทุกอย่างจะสะดวกรวดเร็วมาก สามารถซื้อตั๋วและยื่นขอวีซ่าออนไลน์ได้ที่ www.emirates.com/th/thai/before-you-fly/visa-passport-information/

  • เวลาท้องถิ่นของอาบู ดาบี ช้ากว่าเวลาประเทศไทยประมาณ 3 ชั่วโมง

  • อุณหภูมิทั้งที่ดูไบและอาบู ดาบี ช่วงกลางวันจะร้อนจัด ควรเตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กันแดดติดตัวไปด้วย ส่วนในเวลากลางคืน อุณหภูมิจะเย็นกว่าบ้านเรา บางช่วงและบางพื้นที่สามารถลดต่ำลงจนหนาว อาจจะต้องมีเสื้อกันหนาวติดตัวไปด้วย ทางที่ดีควรเช็คอุณหภูมิทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงเวลาที่จะเดินทาง

  • สกุลเงินที่ใช้ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือ ดีแรห์ม (Dirhams) ตัวย่อสกุลเงินที่ใช้อย่างไม่เป็นทางการคือ DH หรือ Dhs. อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ดีแรห์ม เท่ากับประมาณ 10 บาท

  • ถ้าอยู่ในตัวเมืองและไม่ต้องสื่อสารกับคนพื้นเมืองสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้สบายมาก เพราะผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองมาจากหลากประเทศหลายเชื้อชาติทั่วโลก

  • การเดินทางภายในตัวเมืองสะดวกสบาย เน้นรถไฟเป็นหลัก สามารถซื้อตั๋วรายวันได้ มีรถไฟวิ่งผ่านจุดสำคัญๆรอบเมือง หรือจะใช้บริการรถแท็กซี่ก็ได้ การเดินเท้าไม่เหมาะกับทุกเมืองใน UAE เพราะแต่ละตึกอยู่ไกล และแดดที่ร้อนมากในเวลากลางวัน ทั้งดูไบและอาบู ดาบี ไม่ใช่เมืองที่จะมาเดินชิลล์เล่นจิบกาแฟในคาเฟ่เก๋ๆข้างทาง ส่วนใหญ่ร้านอาหารและคาเฟ่ต่างๆจะอยู่ในตึกใหญ่ๆแทบทั้งหมด ยกเว้นในย่านตลาดและเมืองเก่าที่ยังพอมีตรอกซอกซอยให้เดินลัดเลาะได้

ซุ้มประตู Souk

อิ่มท้องแล้วเราก็เดินลัดเลาะต่อไป มาโผล่อีกทีที่ย่านห้องแถวหน้าตาคล้ายๆพาหุรัดสำเพ็งบ้านเรา แถบนี้เป็นย่านค้าขายสินค้าส่งปลีกแบบเดียวกันเสียด้วย ที่นี่มีตลาดโบราณที่เรียกว่า “ซูค” (Souk) ซึ่งโครงสร้างหลักมีมาตั้งแต่ช่วงค.ศ. 1894-1902 ลักษณะของซูค จะเป็นซุ้มไม้โบราณเชื่อมพาดเหนือตรอกเล็กๆระหว่างตึกแถวสองฝั่ง ผู้คนเดินจับจ่ายกันภายใต้หลังคาที่เชื่อมต่อทะลุตรอกซอกซอยเหล่านี้ ตามเสาของซุ้มเหล่านี้จะแขวนประดับไว้ด้วยตะเกียงโบราณ เราเดินดูพวกเครื่องประดับและทองซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของ Gold Souk หรือตลาดทองคำ ที่เต็มไปด้วยแสงระยิบระยับแยงตาจากสินค้าในตู้โชว์หน้าร้านตลอดทางเดิน ทะลุออกไปถึง Spice Souk หรือตลาดเครื่องเทศ ว่ากันว่าที่นี่เป็นแหล่งจำหน่ายเครื่องเทศที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สินค้าที่วางขายมีทั้งเครื่องเทศเครื่องหอมต่างๆ และสิ่งที่ทำให้เสียเงินในกระเป๋าก็คือแซฟฟรอนจากอิหร่าน หาใช่ทองคำหรือสร้อยแหวนใดๆ แต่ราคาก็น้องๆทองเลย เพราะฝอยเบาๆไม่กี่กรัมในกระปุกแค่ฝ่ามือก็ปาเข้าไปสองพันกว่าบาทแล้ว

Souk

ทะลุออกมาอีกด้านของตลาดเครื่องเทศ เป็นคลองดูไบ หรือ Dubai Creek สายน้ำสำคัญที่เลื้อยตัวมาจากปากอ่าวเปอร์เซียไหลผ่านตลอดทั้งเมือง ถึงจะเรียกว่าคลอง แต่ความกว้างก็คือแม่น้ำดีๆนี่เอง เรานั่งเรือข้ามฟากไปขึ้นฝั่งเพื่อที่จะไปชม Old Souk หรือ Textile Souk ที่อยู่ตรงข้าม ซูคต่างๆจะตั้งรายล้อมรอบๆบริเวณริมฝั่งคลองดูไบนี้เอง Textile Souk หรือตลาดผ้า คล้ายๆสำเพ็งพาหุรัดบ้านเราอย่างที่บอก สินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นจำพวกผ้าทั้งเก่าและใหม่ มีพรม มีผ้าพื้นเมืองแท้บ้างไม่แท้บ้าง ซึ่งเกือบจะหลงซื้อผ้าพันคอลายมูจาฮีดีนที่แปะป้ายเมดอินไชน่ามาแล้วเชียว สินค้าอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะปลอมแน่ๆ ก็คือพวกเครื่องประดับและกระเป๋าแบรนด์เนมต่างๆ มีพ่อค้ามายืนร้องเร่ขายชาเนล เฟนดิ หลุยส์ วิตตอง ตามทางเดินในตลาด พ่อค้าที่นี่ตื๊อเก่ง ทั้งสะกิดทั้งเดินตาม พอรู้ว่าเราเป็นคนไทยบางคนพูดสวัสดีเป็นภาษาไทยเสียด้วย ก็ต้องเฉยที่สุดเท่าที่จะเฉยได้

จากวิถีชีวิตตั้งเดิมของชุมชนเก่าที่เป็นเมืองท่าค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้า ผ่านเวลาล่วงเลยมาร่วมร้อยปี ดูไบในปัจจุบันยังคงสถานะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค หากแต่เปลี่ยนสภาพเป็นเมืองแห่งความเจริญของโลกยุคใหม่ ถึงแม้ว่าการคงอยู่ของตลาดแบบดั้งเดิมอย่างซูคยังช่วยดึงรั้งวิถีชีวิตเก่าๆของคนแถบนี้ไว้ได้บ้าง แต่ความเจริญทางเทคโนโลยีที่หลั่งไหลเข้ามายังเมืองท่าแห่งนี้ ก็แสดงตัวตนที่เด่นชัดผ่านตัวอาคารและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เหมือนความพยายามที่จะประกาศศักดาของ UAE ต่อชาวโลก ตึก Burj Khalifa ที่ตั้งตระหง่านแทงยอดแหลมเสียบขึ้นไปบนท้องฟ้าคือตัวอย่างที่ชัดเจน ด้วยความสูงร่วม 830 เมตรที่สร้างสถิติเป็นสถาปัตยกรรมจากน้ำมือมนุษย์ที่สูงที่สุดในโลก ตัวอาคารได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบรูปทรงมาจาก Hymehocallis ดอกไม้ทะเลทรายที่เป็นพืชพื้นเมืองของที่นี่ ฉันนั่งมองดอกไม้ทะเลทรายดอกนี้อวดโฉมตระหง่านกลางแสงจากดวงไฟและเลเซอร์ที่สาดส่องทาบทาไปบนตัวตึกจากอีกฟากหนึ่งของเมืองจนดึกก่อนที่จะอำลากันไปในค่ำคืนนี้

Burj Khalifa

เราเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยบรั้นช์เบาๆที่คาเฟ่บนหาดวิทยาศาสตร์ ที่เรียกอย่างนี้ เพราะ Jumeiriah Beach คือหาดประดิษฐ์ที่เกิดจากการถมพื้นที่ออกไปในทะเลจนกลายเป็นหาดทรายขาวสะอาด มีจ๊อกกิ้งแทร็คเลียบตลอดความยาวหาด มองเห็นชิงช้าสวรรค์ขนาดยักษ์อยู่ไกลออกไป เบื้องหลังเป็นโรงแรมใต้น้ำ…เขาว่าอย่างนั้น ซึ่งไม่ได้เรียกร้องความสนใจใคร่รู้อะไรจากฉันมากนัก รวมใบถึง Burj Al Arab โรงแรมหรูในตึกรูปเรือใบที่อยู่ไม่ไกล ซึ่งใครๆก็ฝันอยากจะมาพัก แต่เราเลือกที่จะชื่นชมห่างๆจาก Madinat Jumeirah ฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นที่ตั้งของรีสอร์ตที่ใหญ่ที่สุดใน UAE และมีซูคแบบติดแอร์ที่จำลองซูคโบราณมาไว้ในตัวอาคาร แต่ข้าวของและร้านรวงภายในเป็นของสมัยใหม่เสียโดยมาก ไม่เหมือนซูคโบราณที่เราเพิ่งเดินมาเมื่อวาน

 
Jumeiriah Beach

เราเก็บกระเป๋าเช่ารถพร้อมคนขับพุ่งตัวออกจาก ดูไบ ทิ้งหาดวิทยาศาสตร์ไว้เบื้องหลัง มุ่งหน้าสู่อาบู ดาบี เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ท่ามกลางแดดจ้าในยามบ่าย พอออกจากเขตเมืองมาได้สักพัก เราจึงจะได้เห็นทิวทัศน์ข้างทางที่เป็นทะเลทราย มีต้นอินทผลัม ไม้พื้นเมืองสำคัญของที่นี่ขึ้นเรียงรายตลอดสองข้างทาง บางช่วงผ่านถนนเลียบหาด Palm Jumeirah หาดวิทยาศาสตร์ (อีกแล้ว) ที่มองจากท้องฟ้าด้วยมุม Bird Eye View จะเห็นเป็นเกาะรูปต้นปาล์มยื่นออกไปในทะเล เรานั่งรถวนรอบเกาะผ่าน Atlantis The Palm Hotel โรงแรมหรูอีกแห่งก่อนที่จะมุ่งตรงเข้าสู่เขตเมืองอาบู ดาบี ให้ทันก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน

Abu Dahbi; Where modern day architectural and traditional arabian meet
สถาปัตยกรรมเด่นจากสองโลกที่อาบู ดาบี

Sheik Zayed Grand Mosque

สองชั่วโมงจากดูไบถึงอาบู ดาบี หลังเข้าเช็คอินเก็บกระเป๋าแล้ว ยังมีเวลาเหลือเฟือที่จะเข้าชม Sheik Zayed Grand Mosque มัสยิดที่ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชาวซีเรีย Yusef Abdaelki อนุสรณ์สถานสำคัญเพื่อรำลึกถึง Sheik Zayed bin Sultan Al Nahyan อดีตเจ้าผู้ครองนคร (หรือที่เรียกว่า ‘เชค’) แห่งอาบู ดาบี และประมุขคนแรกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

มัสยิดแห่งนี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่รวมเอาศาสตร์และศิลป์แห่งโลกตะวันออกและตะวันตกเข้ามาไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ ทั้งตัวสถาปัตยกรรมเองที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากส่วนผสมของเปอร์เซีย จักรวรรดิโมกุล และมัสยิดแบบอเล็กซานเดรียของอียิปต์, ส่วนประกอบของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและตกแต่งที่เดินทางมาจากทั่วมุมโลกทั้งจากยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก แอฟริกา และนิวซีแลนด์ รวมไปถึงความตั้งใจที่จะให้เป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมของโลกมุสลิม และที่สำคัญคือคุณค่าทางจิตใจในด้านที่เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ ตามความตั้งใจของเชคซาเยดที่ได้เริ่มโครงการนี้เมื่อปี 1997 แต่พระองค์ได้สิ้นประชนม์ลงในปี 2004 ก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และเมื่อการโครงการเสร็จสมบูรณ์ มัสยิดแห่งนี้ก็กลายเป็นสุสานที่ฝังพระศพของพระองค์มาตั้งแต่ปี 2007 เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปและอิสลามิกชนได้เข้ามาชื่นชมและประกอบพิธีกรรมทางศาสนานับแต่นั้นเป็นต้นมา

ก่อนเข้าไปในพื้นที่ของมัสยิดมีการตรวจตราอย่างเข้มงวดทั้งด้านความปลอดภัยและความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะสุภาพสตรีต้องสวมชุดสุภาพเรียบร้อยตามข้อกำหนดเท่านั้น เมื่อผ่านช่องประตูทางเข้าที่แยกเป็นสองฝั่งสำหรับชายและหญิง ทุกคนก็เดินมาพบกันที่ด้านในของรั้วมัสยิด ภาพที่เห็นเบื้องหน้าคือหมู่อาคารหินอ่อนสีขาวสว่างตา ด้านบนประกอบด้วยโดมน้อยใหญ่ มีหอคอยสูงที่เชื่อมด้วยทางเดินรอบลานคอร์ทยาร์ดตรงกลางอยู่สี่มุม หอคอยนี้เรียกว่าหออะซานหรือหอประกาศ ซึ่งเป็นหอคอยสุเหร่าที่มุอัชชิน หรือ ผู้ประกาศเวลาละหมาด ขึ้นไปประกาศเมื่อถึงเวลาละหมาดในแต่ละวัน ตัวมัสยิดล้อมรอบด้วยสระน้ำใสมองลงไปเห็นพื้นสีน้ำเงินที่ก้นสระ เงาของเสารอบอาคารสะท้อนอยู่บนผิวน้ำในมุมที่แสงตกกระทบเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนแสงไฟที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีทำหน้าที่ช่วยสะท้อนเงาเหล่านี้ตามทิศทางข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์

ลานพิธีบริเวณคอร์ทยาร์ดกลางหมู่อาคารสามารถจุคนได้ถึง 40,000 คน ส่วนห้องละหมาดด้านในมีความจุขนาด 7,000 คน ภายในตกแต่งด้วยหินอ่อน ทองคำ หินมีค่า กระจกสี เซรามิก และแก้วคริสตัล โดยเฉพาะแชนเดอเลียขนาดยักษ์กลางโถงจากเยอรมนี ประดับประดาด้วยคริสตัลชวารอฟสกี้นับล้านเม็ด พื้นปูพรมทอเต็มพื้นที่ นับว่าเป็นพรมทอผืนใหญ่ที่สุดในโลก

หลังซึมซับบรรยากาศเข้มขลังภายใน ฉันปลีกตัวออกมาเดินชมความงามของหมู่อาคารรับลมเย็นที่พัดโชยโดยรอบ สัมผัสพลังแห่งความศรัทธาที่แสนสงบ แหงนหน้าขึ้นไปมองดูหออะซานที่ตั้งตระหง่านมีดวงอาทิตย์กลมโตสีส้มเป็นฉากหลัง  ว่ากันว่าพื้นที่ในรัศมีเสียงอะซานจากมัสยิดแต่ละแห่ง เป็นเหมือนเครื่องกำหนดขอบเขตพื้นที่ของชุมชน ในอดีตใช้การตีกลองเป็นเครื่องบอกเวลา จนเมื่อเทคโนโลยีทันสมัยขึ้นจึงมีการใช้เครื่องขยายเสียงในมัสยิดหลายแห่งทั่วโลก บทบาทและความสำคัญของ มุอัชชินและหออะซานจึงลดน้อยถอยลงไป แต่ความสูงโดดเด่นของหอคอยยังคงอยู่เป็นภูมิสัญลักษณ์แสดงถึงการดำรงอยู่ของชุมชนมุสลิม

นอกจากมัสยิดเชคซาเยดที่ถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของอาบู ดาบีแล้ว อีกหนึ่งสถานที่ที่นับเป็นหมุดหมายสำคัญล่าสุดของเมือง คือ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ อาบู ดาบี (Louvre Abu Dhabi) บนเกาะ Saadiyat Cultural District เกาะที่กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางทางศิลปะแห่งใหม่ของโลก ตัวพิพิธภัณฑ์ออกแบบโดย Jean Nouvel สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจ็กต์บนเกาะ Saadiyat ที่เริ่มก่อสร้างในปี 2007 ใช้เวลาก่อสร้างและดำเนินการร่วมทศวรรษจึงสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2017

Louvre Abu Dhabi
Louvre Abu Dhabi

หมู่อาคารโลว์ไรซ์ 55 หลัง ที่ประกอบกันเป็นพิพิธภัณฑ์ลูฟร์อาบู ดาบี ตั้งอยู่บนเกาะซึ่งเกิดจากการถมที่ยื่นออกไปในทะเล ใจกลางครอบไว้ด้วยโดมทรงกลมขนาดใหญ่ โครงสร้างของโดมเกิดจากเส้นสายรูปทรงเราขาคณิต สานกันไปมาเป็นชั้นๆ ที่อนุญาตให้แสงแดดส่องผ่านช่องเหล่านี้ลงไปภายในอาคาร เสมือนภาพจำลองของแสงที่ส่องลอดจากใบปาล์มที่ทับซ้อนไปมาในโอเอซิสกลางทะเลทราย สร้างมิติแห่งแสงและเงาเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน ตามทิศทางการโคจรของดวงอาทิตย์ โดมนี้จึงมีชื่อเรียกว่า Rain of Light หรือ สายฝนแห่งแสง ทั้งยังมีพื้นที่เปิดโล่งปล่อยให้ลมทะเลพัดผ่านเข้ามาในตัวอาคาร ได้ยินเสียงคลื่นซัดเป็นแบ็คกราวน์ด ให้สัมผัสทั้งสายตา ผิวสัมผัส และโสตประสาท

ภายในตัวอาคารจัดแสดงผลงานศิลปะและโบราณวัตถุจากอดีตถึงปัจจุบัน ในส่วนของแกลเลอรี่ต่างๆ จำนวน 23 แกลเลอรี่ ผลงานที่จัดแสดงอยู่ในสัญญาความร่วมมือ 30 ปี ระหว่างฝรั่งเศสและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งระบุว่า ทางลูฟร์ ปารีส จะต้องให้ยืมชิ้นงานศิลปะมาจัดแสดงที่อาบู ดาบี การจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนในแต่ละปี รวมไปถึงความช่วยเหลือ ฝึกเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ และการยินยอมให้ใช้ชื่อ “ลูฟร์” แลกกับเงินจำนวน  974 ล้านยูโร ที่ทางเอมิเรตส์จ่ายเพื่อใช้เป็นทุนในกิจการของทางปารีส

เราใช้เวลาในวันสุดท้ายทั้งวันหมดไปกับการเดินชื่นชมผลงานศิลปะและสำรวจทุกซอกมุมของสถาปัตยกรรมชิ้นเอกจนเย็นย่ำ ขากลับระหว่างที่รถแล่นห่างออกจากเกาะไปเรื่อยๆ ฉันเหลียวกลับไปมองโดมยักษ์และหมู่อาคารอีกครั้ง เมืองขนาดย่อมบนเกาะกลางทะเล ที่มีแสงอาทิตย์ยามเย็นกระทบผิวน้ำพราวระยิบอยู่โดยรอบขณะนี้ คือภาพงดงามของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ที่เป็นเสมือนตัวแทนเทคโนโลยีและวิวัฒนาการสมัยใหม่ซึ่งแตกต่างจากภาพของมหามัสยิดที่เป็นตัวแทนของศรัทธาและจิตวิญญาณแห่ง อาบู ดาบี อย่างสิ้นเชิง เหมือนตั้งอยู่บนโลกคู่ขนานที่ซ้อนเหลื่อมบนพื้นที่และห้วงเวลาเดียวกัน

Travel Info

  • การเดินทางไปยังดูไบ, อาบู ดาบี และรัฐอื่นๆในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ต้องใช้วีซ่ารับรอง ซึ่งนอกจากวีซ่าราชการและวีซ่าสถานทูตแล้ว สถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทยไม่มีบริการรับคำร้องขอวีซ่าทั่วไป ต้องขอผ่านสายการบิน โรงแรมที่พัก หรือตัวแทนที่อยู่อาศัยในกลุ่มประเทศ UAE เท่านั้น สามารถดูรายละเอียดจากเว็บไซต์สถานทูตไทย ณ กรุงอาบู ดาบีได้ที่ www.thaiembassy.org/abudhabi/

  • ปัจจุบันมีสายการบินหลายสายบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-ดูไบ และ กรุงเทพฯ-อาบู ดาบี ส่วนสายการบินสัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทั้งหมด จะมีบริการรับยื่นคำร้องขอวีซ่าด้วย และค่าบริการขอวีซ่าผ่านสายการบินเหล่านี้จะถูกกว่าการยื่นขอผ่านตัวแทนอื่น ๆ แต่มีข้อแม้ว่าต้องใช้บริการสายการบินของเขาเท่านั้นจึงจะสามารถใช้บริการนี้ได้ สายการบินเอมิเรตส์คือสายการบินหลัก ถ้าเดินทางโดยสายการบินเอมิเรตส์ทุกอย่างจะสะดวกรวดเร็วมาก สามารถซื้อตั๋วและยื่นขอวีซ่าออนไลน์ได้ที่ www.emirates.com/th/thai/before-you-fly/visa-passport-information/

  • เวลาท้องถิ่นของอาบู ดาบี ช้ากว่าเวลาประเทศไทยประมาณ 3 ชั่วโมง

  • อุณหภูมิทั้งที่ดูไบและอาบู ดาบี ช่วงกลางวันจะร้อนจัด ควรเตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กันแดดติดตัวไปด้วย ส่วนในเวลากลางคืน อุณหภูมิจะเย็นกว่าบ้านเรา บางช่วงและบางพื้นที่สามารถลดต่ำลงจนหนาว อาจจะต้องมีเสื้อกันหนาวติดตัวไปด้วย ทางที่ดีควรเช็คอุณหภูมิทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงเวลาที่จะเดินทาง

  • สกุลเงินที่ใช้ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือ ดีแรห์ม (Dirhams) ตัวย่อสกุลเงินที่ใช้อย่างไม่เป็นทางการคือ DH หรือ Dhs. อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ดีแรห์ม เท่ากับประมาณ 10 บาท

  • ถ้าอยู่ในตัวเมืองและไม่ต้องสื่อสารกับคนพื้นเมืองสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้สบายมาก เพราะผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองมาจากหลากประเทศหลายเชื้อชาติทั่วโลก

  • การเดินทางภายในตัวเมืองสะดวกสบาย เน้นรถไฟเป็นหลัก สามารถซื้อตั๋วรายวันได้ มีรถไฟวิ่งผ่านจุดสำคัญๆรอบเมือง หรือจะใช้บริการรถแท็กซี่ก็ได้ การเดินเท้าไม่เหมาะกับทุกเมืองใน UAE เพราะแต่ละตึกอยู่ไกล และแดดที่ร้อนมากในเวลากลางวัน ทั้งดูไบและอาบู ดาบี ไม่ใช่เมืองที่จะมาเดินชิลล์เล่นจิบกาแฟในคาเฟ่เก๋ๆข้างทาง ส่วนใหญ่ร้านอาหารและคาเฟ่ต่างๆจะอยู่ในตึกใหญ่ๆแทบทั้งหมด ยกเว้นในย่านตลาดและเมืองเก่าที่ยังพอมีตรอกซอกซอยให้เดินลัดเลาะได้

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.