Spirituality In Place

alive​รู้จักคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกไทยเจ้าของรางวัลศิลปาธร ครั้งแรกเมื่อราวปลายปีที่แล้ว จากการแอบแฝงตัวไปกับคณะสถาปนิกและนักศึกษาเพื่อเข้าไปเยี่ยมชม Tiny Museum พิพิธภัณฑ์ที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ซึ่งซุกซ่อนตัวอยู่ระหว่างซอกกุฏิภายในวัดโสมนัสราชวรวิหาร โดยในครั้งนั้น คุณสุริยะให้เกียรตินำชมและอธิบายถึงแนวคิดในการออกแบบที่น่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ขนาดจิ๋วสีแดงชาด หน้าตาเหมือนหีบสมบัติสำหรับเก็บรักษา ‘กเบื้องจาน’ ที่เปรียบเสมือนจดหมายเหตุบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่จารึกอยู่บนกเบื้องจานแต่ละแผ่น

แต่สิ่งที่ทำให้ติดใจอยากทำความรู้จักสถาปนิกท่านนี้มากขึ้น คือหลังจากทัวร์พิพิธภัณฑ์จิ๋วจบลง คุณสุริยะได้เปิดโอกาสให้ลูกทัวร์สนทนาซักถามข้อข้องใจต่างๆ “ถามได้หมดทุกเรื่องนะครับ หรือจะคุยเรื่องธรรมะก็ได้” ประโยคนี้น่าจะเป็นการจุดประกายให้ alive นัดพบและพูดคุยแบบส่วนตัวอีกครั้ง ที่โฮมออฟฟิศอันเป็นที่ตั้งของ Walllasia สตูดิโอออกแบบของคุณสุริยะเอง

นอกจาก Tiny Museum ผลงานล่าสุดแล้ว คุณสุริยะยังได้ออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมและแลนด์สเคปมากมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือนอกจากอาคารเพื่อการอยู่อาศัยอย่างบ้านและโรงแรมแล้ว สถาปนิกท่านนี้ยังได้ออกแบบกุฏิพระและอาคารปฏิบัติธรรม ซึ่งทำให้เราเกิดความสงสัยว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เจ้าตัวหันมาออกแบบอาคารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความเชื่อและศาสนาเช่นนี้

อยู่ดีๆทำไมถึงได้ไปออกแบบวัด เริ่มต้นยังไงครับ

สุริยะ: มันเริ่มจากตอนที่หลานผมไปบวช พอเขาบวชได้ปีที่ 5 เขาก็สร้างกุฏิเล็กๆ เอง ผมเลยไปออกแบบให้ ช่วยกันสร้าง ที่วัดเขาพุทธโคดม ศรีราชา เริ่มจากแค่หลังเดียวนะ แล้วหลังจากนั้นหลวงพ่อท่านมาเห็น ก็ให้เราทำอีกหลายหลัง แล้วได้ลงหนังสือ Art4D ด้วยความบังเอิญงานได้ขึ้นปก หลังจากนั้นเขาก็ส่งงานไปประกวดรางวัล AR Awards ซึ่งเป็นรางวัลที่ใหญ่มากในยุคนั้น ปรากฏว่าผมได้รางวัล ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่ารางวัล AR คืออะไร หลังจากนั้นก็ไปได้รางวัลที่ญี่ปุ่น ก็เลยเริ่มเป็นที่รู้จัก ได้รางวัลต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แต่พอปี 2557 หลังจากได้รางวัลศิลปาธร ได้รางวัลสถาปนิกดีเด่นเหรียญทองและเหรียญเงิน ผมก็เลิกส่งงานประกวดแล้ว

เริ่มตั้งแต่กุฏิที่เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย หลังจากนั้นทำไมงานถึงออกมาเป็นแนว Spiritual มาเรื่อย

สุริยะ: ตอนนี้ผมทำงานพาณิชย์ที่มีพาร์ทเนอร์ เป็นงานออกแบบบ้านหรือโรงแรม แต่งานวัดเป็นงานส่วนตัว ก็พยายามคิดว่าเราจะเอาสิ่งที่เรามีอยู่ตรงนี้มาใส่ในงานได้อย่างไร การไปวัดทำให้ได้เรียนรู้ธรรมะ และหลังจากนั้นก็กลายเป็นธรรมชาติ ธรรมะและธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน

ในงานอาคารปฏิบัติธรรมล่าสุดที่ผมทำอยู่ที่วัดป่าวชิรบรรพต ซึ่งมี 4 ชั้น เสาตัวนอกสุดจะเป็นตัวเชื่อมกับธรรมชาติโดยรอบ เนื่องจากว่าในเสานี้มันมีหิน สีมันเหมือนก้อนหิน ผมเลยปล่อยไม่ทาสี เป็นการเชื่อมธรรมชาติเข้ากับอาคาร ด้านในผมฉาบสีขาวในส่วนของภายในอาคาร ความเป็นธรรมชาติและสิ่งต่างๆเหล่านี้มันอยู่ในตัวเรา เวลาคิดเราจะคิดถึงธรรมชาติกับบ้าน เหมือนเอานิ้วมาสอดประสานกัน ธรรมชาติก็เข้ามาในบ้าน บ้านก็ออกไปในธรรมชาติ เวลาทำงานเราจะมองสิ่งที่ใหญ่กว่าเรา

สถานปฎิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต
สถานปฎิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต
การดึงธรรมชาติเข้ามาสู่วัด
การดึงธรรมชาติเข้ามาสู่วัด
ครั้งแรกที่เข้าไปทำงานออกแบบวัด รู้สึกต่างจากงานออกแบบอาคารทั่วไปอย่างไร

สุริยะ: ไม่ได้รู้สึกแปลก เป็นเรื่องปกติ คือวัดที่นั่น (วัดป่าพุทธโคดม) พระเณรทำกันเอง ตอนนี้ก็น่าจะทรุดโทรมไปบ้างแล้ว ก่อนที่จะไปทำกุฏินี้เป็นคนไม่ปฏิบัติเลย แค่ไปทำให้หลาน แต่หลังจากนั้นก็เริ่มปฏิบัติธรรม ผมว่าตัวบุคคลที่จะนำเราเข้าไปสู่ธรรมะนี่สำคัญ ผมเจอหลวงพ่อและคุยกับท่านมา 15-20 ปี การคุยกับบัณฑิตก็ต้องส่งผลเป็นไปในทางที่ดี พอได้เข้าไปทำให้เราต้องมาศึกษา มาอ่าน หนังสือที่เราเคยรู้สึกว่าอ่านยากๆในอดีตนี่ก็อ่านง่ายขึ้น เพราะพอเราเข้าใจเรื่องธรรมชาติเราก็เข้าใจง่ายขึ้น เพราะธรรมะคือธรรมชาติ จริงๆแล้วธรรมะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ข้างในตัวเองและสัมพันธ์กับจักรวาล

วัดป่าวชิรบรรพต
จากที่ทำงานเล็กๆ อยู่เงียบๆ ทำงานศิลปะของตัวเอง แล้วหลังจากนั้นได้รางวัลและชื่อเสียงเข้ามามากมาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ตัวเราเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร

สุริยะ: อันนี้สำคัญ มันเปลี่ยนเรา นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมอยากหยุด หยุดไปนานราว 5 ปี ไปทำอาคารปฏิบัติธรรม มันเป็นช่วงรอยต่อของงานเล็กๆกับงานใหญ่ ตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันมากเกินไปสำหรับเรา ช่วงนั้นอะไรมันจะเร็วมาก เพราะอาคารที่อยู่อาศัยมันเล็ก ฟังก์ชั่นเดียว ไม่ซับซ้อน มันก็จะไปเร็วมาก สร้างเสร็จแบบปีต่อปี พอมาเจออาคารปฏิบัติธรรมซึ่งใช้เวลาปาเข้าไป 5 ปี ก็เลยหายไปเลย

ตอนนั้นคำว่า ‘จริต’ มันเข้ามา พอเข้ามาแล้วมันทำลายบางอย่างในตัวเราไป จน ณ ปัจจุบันนี้ผมไม่พยายามที่จะเสพซีนจนเกินไป เพราะมันจะทำลายความเป็นตัวเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมกลัวมาก มันอาจจะทำให้เราเขว ทุกอย่างมันเขวได้ ทางที่ดีเราควรที่จะหยุด ชะลอเพื่อที่จะมองอะไรบางอย่างได้ถี่ถ้วนขึ้น ไม่ใช่เราจะวิ่งไปคนเดียว เราต้องหยุดแวะข้างทางเพื่อที่จะดูคนอื่นวิ่งบ้าง ก็ไม่ได้หยุดอยู่เฉยๆเสียทีเดียว มีงานบรรยายตลอด มีงานแสดงศิลปะ แค่ไม่มีผลงานออกแบบออกมาเท่านั้นเอง”

พลบค่ำที่สถานปฎิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต
พลบค่ำที่สถานปฎิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต
หลังจาก 5ปี ที่หยุดไป ความรู้สึกตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สุริยะ: เด็กรุ่นใหม่เขาไม่รู้จักเราแล้ว เพราะมันเป็นยุคที่โซเชียลเริ่มเข้ามามีบทบาท ผมไม่มีเฟซบุ๊ก จนกระทั่งพาร์ทเนอร์เข้าสร้างเพจให้ และผมมีอินสตาแกรม พอลงงานก็มีสื่อติดต่อมาต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ โดยเฉพาะอาคารปฏิบัติธรรม ล่าสุด Vogue Italia ติดต่อมา เขาของานไปลงซึ่งในนั้นก็จะเป็นงานที่เกี่ยวกับ Spiritual จากทั่วโลก

“ตอนไปดูงานที่วัด มีคนแนะนำว่าน่าจะมี Sculpture แต่ผมว่ามันไม่จำเป็นต้องมี ถ้ามีมันจะถูกกำหนด พอมันไม่มี มันกลายเป็นความว่าง ความว่างของแต่ละคนที่มันไม่มีอะไรไปใส่”

ตอนเด็กๆเป็นเด็กแบบไหน

สุริยะ: ผมเป็นเด็กซนมาก และชอบตั้งคำถาม ผมตั้งคำถามกับชีวิตมาตลอด ทุกวันนี้ผมอยู่เพื่อที่จะเรียนรู้ แต่ไม่ได้บีบคั้น มีคำของพระพุทธเจ้าที่ผมชอบมากเลย “ถึงเราพยายามก็ไม่บรรลุ ถึงเราไม่พยายามก็ไม่บรรลุ เราต้องพยายามจนปลอดพ้นความพยายาม เราถึงจะตระหนักรู้ได้” ตอนที่ท่านบำเพ็ญเพียรกว่าที่จะบรรลุนี่ใช้เวลา 6 ปี พอท่านเปลี่ยนวิธี เลิกทรมานร่างกายแล้วท่านก็บรรลุ ก็เหมือนกับการที่เราไม่ไปบีบคั้นว่า เราอยากได้รางวัล เพราะรางวัลมันไม่ใช่สิ่งจำเป็น ถ้าจำเป็น มันก็ไม่ใช่รางวัล คือคุณต้องทำงานให้ดี แล้วเขาจะให้รางวัลคุณมา

หลังจากศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว สิ่งเหล่านี้มีผลเปลี่ยนแปลงกับงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้หรือไม่

สุริยะ: มีครับ เยอะมาก ในเรื่องของมุมมอง ยกตัวอย่าง สถาปนิกที่จบใหม่เขาจะมองช่างเป็นอีกแบบ จะมีอีโก้สูงมาก จะมีท่า มีวรรณะเกิดขึ้น เมื่อก่อนผมก็เป็น แต่พอเราโตมา พอเราเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาแล้วมันไม่มีสิ่งนี้ เราจะคิดอีกแบบ ผมไม่รู้สึกว่าเราต่างกัน แต่เราจะต้องมีวินัย ต้องเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน เราแค่ทำคนละหน้าที่

ธรรมชาติของน้ำที่ถูกดึงมาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสถาปัตยกรรม
ธรรมชาติของน้ำที่ถูกดึงมาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสถาปัตยกรรม
แล้วในแง่ของการออกแบบล่ะครับ เราเอาหลักธรรมมาใช้เป็นแนวคิดหรือวิธีการออกแบบไหม

สุริยะ: คือพอจากธรรมะไปสู่ธรรมชาติ ธรรมชาติทำให้เรานิ่งและได้พิจารณา แค่คุณสงบ คุณก็ได้เรียนรู้ ผมว่าความสงบเป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ แล้วผมเชื่อว่า เราไม่จำเป็นต้องมีความรู้มาก แต่เรามีวิธีการที่จะหาความรู้ เราสร้างเครื่องมือในการหาความรู้ได้ สมมติเราไปจับปลา เราไม่จำเป็นต้องมีอะไรเลย แต่เรารู้วิธีที่จะจับปลา เรามีวิธีอะไรที่จะจับปลาได้ เรารู้พฤติกรรมปลา  เรารู้ว่าปลาอยู่ตรงไหน อยู่อย่างไร เรารู้ว่าช่วงเวลาไหนที่เราจะจับปลาได้ ธรรมะเป็นเรื่องของทุกสรรพสิ่ง แค่คุณรู้ว่าลมหายใจเป็นอย่างไร แค่มีลมหายใจคุณก็ทำทุกอย่างได้ มันทำให้เรารู้จักวิธีจัดการกับความรู้สึก

“ผมว่าผมโชคดีมาก เพราะ 1. ได้เกิดเป็นมนุษย์ 2. ได้เจอพุทธศาสนา 3. ได้เกิดในประเทศไทย”

คำว่า ‘ธรรมชาติ’ ถ้าไปอยู่ในที่ที่มันมีจริต อย่างพวกโรงแรมอะไรแบบนี้ มันเหมือนหรือต่างกับวัดอย่างไร

สุริยะ: โรงแรมที่เราไปตามต่างจังหวัดนี่เราไปเพราะธรรมชาติใช่หรือเปล่า ถ้าไม่มีเราจะไปไหม? นอนในกรุงเทพฯดีกว่า จริงไหมครับ…แต่เราไปเพราะธรรมชาติ  เพราะฉะนั้น ธรรมชาติคือจุดขาย โรงแรมก็แค่จุดยืนมองธรรมชาติที่สวย อย่างอื่นก็มีแสตนดาร์ดของมัน อย่างล่าสุดผมไปทำโรงแรมที่ประมาณ 120 ไร่ ตัวโรงแรมแค่นิดเดียว แต่ที่เหลือเป็นต้นไม้ทั้งหมด วิธีการคิดก็ตามแนวทางในหลวง ร.9 ท่าน คือ ป่าไม้เราไม่ต้องปลูก แค่ไม่ตัดมันเท่านั้นเอง หรือแม้แต่เราสร้างอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เราไม่ต้องปลูกเดี๋ยวต้นไม้มันมาเอง อย่างต้นไม้ของผมที่เห็นทั้งหมดในบ้านนี้มันขึ้นมาเอง เราก็แค่เก็บไว้ และให้น้ำมันให้เติบโตดีๆ อย่างโรงแรมที่ผมทำผมก็ใช้วิธีเก็บต้นไม้ไว้ แม้แต่หญ้าผมก็เก็บไว้หมด ไม่ต้องตัด ไม่ต้องปลูกใหม่ เราปลูกแค่ใน Loop ของเรานิดหน่อย อย่างเขาชอบจามจุรี ผมก็ปลูกจามจุรี ซึ่งมันโตไว พอมันโตแล้วแผ่ออกไป หญ้ามันก็จะตายเอง ผมเดินทางด้วยแลนด์สเคปก่อน แล้วตัวอาคารมันตามมาทีหลัง” 

ความสัมพันธ์ของธรรมชาติและสถาปัตยกรรมที่สถานปฎิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต
ความสัมพันธ์ของธรรมชาติและสถาปัตยกรรมที่สถานปฎิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต
ฟังแล้วรู้สึกว่ามันไม่ต่างกันเลย

สุริยะ: จริงๆแล้วมันคือการเข้าใจคุณสมบัติของแต่ละสิ่ง คือธรรมชาติของแต่ละสิ่ง แล้วเราใช้มันไปตามคุณลักษณะและความสัมพันธ์ของมัน

ขอกลับไปเรื่องสถานปฏิบัติธรรม เวลาที่เราไปปฏิบัติธรรม เขาก็จะบอกว่าเราต้องเข้าไปอยู่กับความว่างเพื่อที่จะมีสมาธิ เลยอยากทราบว่าจริงๆแล้วความว่างคือสิ่งที่ช่วยในการทำงาน​

สุริยะ: สมาธิ ก็ต้องมีการบริกรรม จะบริกรรมพุทโธ ยุบหนอพองหนอหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดมาจากลมหายใจ เพราะมันสม่ำเสมอ ต้องหาความสม่ำเสมอ จิตคนเรามีพลังมหาศาล มันเคลื่อนไวมาก อย่างเรานั่งอยู่นี่ไม่รู้มันไปกี่ที่ มีเสียงมาหรือได้กลิ่น มันก็ไปเลย การบริกรรมเป็นกุศโลบายเพื่อการระลึกถึง ผมเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้กับสถานปฏิบัติธรรม จังหวะช่องเปิดอาคารที่ผมทำซ้ำๆๆกัน ใช้หลักการนับสมาธิและเดินจงกรมมาใช้ในการออกแบบ

ในการทำงานอาคารปฏิบัติธรรมเลยไม่มีอะไรที่มันวุ่นวาย ไม่มีอะไรเลย มันก็มีปูน มีฝ้า แล้วมันซ้ำๆไปอย่างนั้น

“ถ้าตัดรูปแบบออกหมด ผมอยากให้วัดคือความสุข เป็นความสงบ และธรรมชาติที่สวยงาม”

วัดป่าวชิรบรรพต
ทุกวันนี้ความสุขคืออะไร และความพึงใจเกิดจากอะไร

สุริยะ: ความสุขคือความสงบ มนุษย์เกิดมามีทั้งทุกข์ทั้งสุข แต่เราต้องรู้จักมองว่าสิ่งนี้คือทุกข์ ทุกวันนี้ความสุขคือการได้ทำในสิ่งที่เรารัก งานสถาปัตย์เป็นงานที่เหนื่อยและใช้เวลานานมาก แต่ทำไมผมถึงยังทำอยู่ได้ เหตุผลคือมันมีพลังบางอย่าง และได้ฝึกความอดทน ได้ฝึกตนตลอดเวลา ฝึกเพื่อที่จะอยู่กับสิ่งนี้นานๆ ต้องอยู่เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าเราทำได้ อยู่เพื่อที่จะให้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันดีแน่นอน งานสถาปัตย์มันถึงต้องเรียน และผ่านกระบวนการยาวนาน เพราะเมื่อมันถูกสร้างออกมาแล้วมันทำลายธรรมชาติไปไม่รู้เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมันต้องได้ผลกลับคืนมามหาศาล และต้องสร้างสิ่งที่ดีสำหรับชุมชนด้วย ถ้าเราหาจิ๊กซอว์หรือตัวเชื่อมได้มันจะสวยงามมาก

วัดป่าวชิรบรรพต
ลวดลายบนปูนเปลือยด้านบนคือลายเส้นของแปลนวัด

เครดิตภาพ

Tiny Museum: วชิรปาณี มากดี

อาคารสถานปฏิบัติธรรมวัดป่าวชิรบรรพต: Walllasia Studio

ภาพพอร์เทรตและอื่นๆ: มนู มนูกูลกิจ

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.