Play Video

เสียงสวดมนต์ภาษาบาลีดังแว่วตามอากาศมากระทบเข้ากับโสตประสาทเมื่อแรกก้าวเท้าลงบนสนามบินเมืองคยา หรือ Gaya ในภาษาอังกฤษ เป็นความรู้สึกแปลกประหลาดแต่คุ้นเคยอย่างบอกไม่ถูกสำหรับคนที่เพิ่งเดินทางมาอินเดียครั้งแรก ด้วยความที่บทสวดบาลีนี้เป็นสิ่งที่คนไทยชาวพุทธอย่างเราคุ้นเคยมาทั้งชีวิต แต่เมื่อมาได้ยินที่ต่างบ้านต่างเมืองโดยเฉพาะในสนามบินแบบนี้ ก็ให้ความรู้สึกแปลกไปอีกแบบ เป็นความรู้สึกที่ไม่เหมือนการเดินทางไปสนามบินไหนในโลกนี้

เราก้าวเดินตามกันมาต่อแถวที่เคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินเล็กๆที่มีแที่ยวบินขึ้นลงไม่มากมายและวุ่นวายอะไร แต่กระนั้น ก็ใช้เวลาไปนานโขกับระบบการจัดการแบบอินเดียๆ ก่อนที่จะผ่านด่านตรวจ รับกระเป๋า และก้าวขึ้นรถโค้ชเดินทางไปยังโรงแรมที่พัก เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่วัดมหาโพธิ์ อันเป็นที่ตั้งของมหาเจดีย์พุทธคยา สังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุด 1 ใน 4 ของชาวพุทธ

พุทธคยา: สถานที่แห่งการตรัสรู้

มหาเจดีย์พุทธคยาในคืนวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง
มหาเจดีย์พุทธคยาในคืนวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นสักประมาณหนึ่งเดือน มีไลน์จากเพื่อนชักชวนให้มาเที่ยวและปฏิบัติธรรมที่พุทธคยา ด้วยความที่ตัวเองไม่เคยปฏิบัตธรรมมาก่อนเลยในชีวิต เคยลองนั่งสมาธิบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีสภาวะที่เรียกได้ว่าสมาธิเกิดขึ้นเลย เรื่องทัวร์ทำบุญนั่งสมาธิจึงแทบจะไม่เคยมีอยู่ในหัวมาก่อน ประกอบกับความกลัวเรื่องอาหารการกินและสุขอนามัย ทำให้ไม่กล้าที่จะไปเที่ยวอินเดียตามลำพัง แต่ใจหนึ่งก็คิดว่า ไหนๆเราก็ไม่เคยไปอินเดีย เพื่อนชวนทั้งทีก็ลองไปดูเลยแล้วกัน ดูจากโปรแกรมแล้วก็ไม่น่าจะลำบากมาก ถือว่าเป็นทริปที่ค่อนข้างสบาย มีคนอำนวยความสะดวกในทุกเรื่อง ถือเสียว่าติดคณะทำบุญเขาไปเที่ยวดูบ้านเมือง วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นที่นั่น เรื่องปฏิบัติธรรมถือเป็นเรื่องรอง

เทศกาลแสวงบุญของชาวพุทธที่เดินทางมาแสวงบุญที่ดินแดนชมพูทวีปในอดีตนี้ เริ่มกันตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษาข้ามไปจนถึงเดือนมีนาคมของอีกปี แต่ช่วงเวลาที่ผู้คนคลาคล่ำที่สุดน่าจะเป็นช่วงตุลาคมถึงมกราคม เพราะเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป หรือจะเรียกว่าหนาวเลยก็ว่าได้ เพราะพุทธคยานี้ ตั้งอยู่ที่รัฐพิหาร ทางตอนเหนือของอินเดีย ใกล้กับประเทศเนปาล อากาศในช่วงนี้จึงค่อนข้างเย็นกว่าภูมิภาคอื่น ในช่วงเวลานี้ของทุกๆปีเราจะได้เห็นชาวพุทธต่างนิกายจากทั่วโลกเดินกันขวักไขว่ทั่วเมืองคยา ทั้งพระเณรสายเถรวาทจากไทยและประเทศเพื่อนบ้านของเรา พระชีสายมหายานจากจีน เวียดนาม มองโกเลีย และลามะจากทิเบต รวมไปถึงอุบาสกอุบาสิกาจากทั่วโลก หากจะเปรียบพุทธคยาว่าเป็นเยรูซาเลมหรือเมกกะของชาวพุทธก็คงไม่ผิดนัก หลายคนเชื่อว่าชาวพุทธที่มีบุญเท่านั้นถึงจะได้มีโอกาสมานมัสการมหาเจดีย์แห่งนี้ ทางเราที่ไม่ค่อยจะเชื่ออะไรที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ก็ได้แต่ฟังหูไว้หู คิดแค่ว่ามาเที่ยว

กว่าจะถึงทางขึ้นวัดมหาโพธิ์ก็เย็นมากแล้ว นอกจากไกด์ชาวไทยแล้ว เรายังมีไกด์ท้องถิ่นชาวอินเดีย และไกด์กิติมศักดิ์ คือพระอาจารย์ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวไทย ที่ท่านมาจำพรรษาในช่วงเทศกาลแสวงบุญนี้ที่วัดไทยพุทธคยา ซึ่งตั้งอยู่ตรงทางขึ้นวัดมหาโพธิ์ ท่านได้ให้เกียรตินำชมเมืองคยาและให้ความรู้ทางด้านธรรมะและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

Travel Info

  • การเดินทางไปยังอินเดีย ต้องใช้วีซ่า หากเดินทางไปยังเมืองคยา สามารถยื่นขอวีซ่าออนไลน์ได้ และจะได้รับเป็น E-VISA แนะนำให้ปริ้นต์และพกติดตัวไปด้วย
  • ปัจจุบันมีสายการบินของไทยหลายสายบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-พุทธคยา ทั้งการบินไทย ไทยสไมล์ และ แอร์เอเชีย
  • เวลาท้องถิ่นของอินเดียช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง 30 นาที
  • อุณหภูมิในช่วงเดือนธันวาคม กลางวันจะอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียสเศษๆ กลางคืนและช่วงเช้ามืดอาจต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ควรเตรียมเสื้อกันหนาวและกันลมไปด้วย รวมถึงหน้ากากกันฝุ่น เพราะที่อินเดียมีค่าฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างสูง
  • สกุลเงิน คือ อินเดียนรูปี 1 รูปี = 100 ไปซ่า แนะนำให้แลกเป็นเงินสกุลยูเอส ดอลล่าร์ แล้วไปแลกเป็นเงินรูปีที่โน่น แต่บริเวณพุทธคยา เงินไทยก็เป็นที่ยอมรับ ร้านค้าบางร้านสามารถจ่ายเป็นเงินบาทของไทยได้
  • ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่คือภาษาฮินดี แต่คนอินเดียส่วนใหญ่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ ไกด์และร้านค้าในพุทธคยาหลายคนสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยง่ายๆได้
  • สัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตไม่มีปัญหา ถ้าซื้อซิมอินเดียจะถูกกว่าเปิดโรมมิ่ง
  • อาหารข้างทางราคาย่อมเยาว์ แต่แนะนำสำหรับคนที่แข็งแรงเท่านั้น ถ้าไม่มั่นใจควรรับประทานในร้านอาหารหรือโรงแรม ดื่มน้ำจากน้ำดื่มบรรจุขวดเท่านั้น ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปในโรงแรม ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต
  • การเดินทางภายในเมืองคยา สามารถเรียกใช้บริการแท็กซี่ หรือสามล้อหน้าตาเหมือนตุ๊กๆบ้านเรา ราคาตามความสามารถในการต่อรอง หากต้องการเดินทางไปยังเมืองอื่นใกล้ๆ สามารถนั่งรถไฟได้ (หากมีเวลา แนะนำให้ไปเมืองพาราณสี อีกหนึ่งสังเวชนียสถาน ซึ่งพระพุทธองค์ได้แสดงปฐมเทศนาที่แห่งนั้น)
พ่อค้าหน้าร้านรับฝากรองเท้า บริเวณทางขึ้นพุทธคยา
พ่อค้าหน้าร้านรับฝากรองเท้า บริเวณทางขึ้นพุทธคยา

ระหว่างทางที่เดินขึ้นไปยังวัดมหาโพธิ์ มีพระเณร ลามะ และผู้คนคลาคล่ำ ตลอดทางมีพ่อค้าแม่ขายมาเสนอขายเครื่องสักการะต่างๆ ดอกบัวดูจะเป็นของสินค้ายอดฮิต พ่อค้าแม่ค้ามีทุกวัยตั้งแต่เด็กน้อยยันคนแก่ หลายคนเดินเข้ามาพูดภาษาไทยกับเรา พระอาจารย์บอกว่าไม่ต้องตอบรับ สบตา หรือโต้ตอบใดๆ ไม่อย่างนั้นเราจะโดนรุมทึ้งในทันที ระว่างทางขึ้นมีรถม้าคอยให้บริการ แต่ระยะทางไม่ได้ไกลมากและอากาศเย็นสบาย การเดินออกกำลังกายเบาๆชมบรรยากาศระหว่างทางจึงเป็นทางเลือกที่ดี เมื่อถึงทางเข้า ทุกคนต้องถอดรองเท้าฝากไว้ที่ร้านฝากของ เพราะภายในบริเวณวัดไม่อนุญาตให้สวมรองเท้าเข้าไป รวมไปถึงอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือต่างๆก็ห้ามนำเข้า อนุญาติให้เพียงกล้องถ่ายรูปธรรมดาเท่านั้น และต้องผ่านด่านเอ็กซเรย์เสียก่อน ระบบรักษาความปลอดถัยที่เคร่งครัดนี้ มีผลมาจากกรณีวางระเบิดโดยกลุ่มก่อการร้ายเมื่อปี 2013 การเดินเท้าเปล่าท่ามกลางอากาศเย็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่โชคดีที่สวมถุงเท้ามาจึงไม่ค่อยโหดร้ายเท่าไหร่

หลังจากเดินเท้าแทรกตัวเบียดฝูงชนเข้ามาจนถึงด้านในบริเวณรอบพระมหาเจดีย์แล้ว ความรู้สึกเสมือนเป็นอีกโลกหนึ่ง กลิ่นธูปเทียนอบอวลลอยปะปนมากับเสียงสวดมนต์ต่างภาษาต่างสำเนียงที่กระจายอยู่ทั่วอณูอากาศ บ้างคุ้นเคย บ้างแปลกแยกแปลกหู ทั่วบริเวณมีนักบวชและพุทธศาสนิกชนจับจองพื้นที่นั่งสวดมนต์หลับตาภาวนาอยู่ทั่วไป  ที่เดินเวียนรอบพระมหาเจดีย์ก็มาก มีลามะและอุบาสกอุบาสิกาชาวทิเบต เดินวนรอบเจดีย์พร้อมทำอัษฎางคประดิษฐ์ไปตลอดทาง ว่ากันว่าเป็นการทำพุทธบูชาที่ต้องใช้แรงกายแรงใจขั้นสูงสุด เพราะต้องใช้องคพยพทั้ง 8 อันได้แก่ หน้าผาก 1 อก 1 ผ่ามือ 2 เข่า 2 และปลายเท้า 2 สัมผัสกับพื้นธรณี บางคนต้องทำเป็นพันครั้ง หลายคนที่ญาติพี่น้องไม่มีโอกาสเดินทางมา ก็รับฝากนมัสการ ถ้ามีญาติ 10 คน ก็ต้องกราบแบบนี้เป็นหมื่นครั้ง นับว่ามีจิตศรัทธาที่แรงกล้ามาก เราจับจองที่นั่งห่างออกมาแล้วเริ่มสดมนต์ภาวนา เมื่อลืมตาแหงนขึ้นมองไปบนฟ้า เห็นดวงจันทร์กลมโตเหนือมหาเจดีย์ ถึงนึกขึ้นได้ว่าเรามาถึงในคืนวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงพอดี

พระจากหลากนิกายที่บริเวณวัดมหาโพธิ์
พระจากหลากนิกายที่บริเวณวัดมหาโพธิ์

มหาเจดีย์ พระพุทธเมตตา และพระศรีมหาโพธิ์: กิ่งก้านและรากฐานแห่งพุทธ

ต้นพระศรีมหาโพธิ์เหนือพระแท่นวัชรอาสน์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์เหนือพระแท่นวัชรอาสน์

เรากลับมาที่มหาเจดีย์ใหม่อีกครั้งในเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง เพื่อถวายผ้าห่มพระพุทธเมตตา ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระมหาเจดีย์ พระพุทธเมตตานี้เป็นพระพุทธรูปปางภูมิผัสสะ หรือที่บ้านเราเรียก ปางมารวิชัย แกะสลักจากหินสีดำ เป็นศิลปะจากสมัยราชวงศ์ปาละ ว่ากันว่ารอดพ้นจากการทำลายของกษัตริย์เบงกอลซึ่งนับถือฮินดู ในศตวรรษที่ 13 ด้วยความต้องการจะขุดรากถอนโคนพระพุทธศาสนาให้สิ้นซาก ทั้งเข้ายึดบริเวณพุทธคยา ขุดรากถอนโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ และจะนำพระพุทธเมตตาออกไปจากพระมหาเจดีย์ แต่เสนาบดีที่เป็นชาวพุทธโบกปูนปิดเพื่อบังตาไว้ พระพุทธรูปองค์นี้จึงรอดพ้นจากการทำลายมาให้เรากราบไหว้จนถึงปัจจุบัน

ห่มผ้าพระพุทธเมตตา
ห่มผ้าพระพุทธเมตตา

บริเวณห้องที่ประดิษฐานพระพุทธเมตตานี้มีขนาดไม่ได้กว้างใหญ่ แต่ผู้คนที่ต้องการเข้าไปสักการะนั้นมีจำนวนมาก ต้องต่อคิวกันเป็นแถวยาว ระหว่างเข้าแถว เราเว้นที่ไว้หน่อยเพื่อให้คนเดินเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุเดินผ่านไปได้ สักพักมีลามะคนหนึ่งแทรกคิวเข้ามาตัดหน้า พระอาจารย์เลยไปสะกิดลามะให้ดูแถวที่ยาวเฟื้อยด้านหลัง ลามะทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้แล้วยืนเฉยอยู่ตรงนั้น เราได้แต่มองหน้ากัน ยิ้มเบาๆ แล้วนึกในใจว่า “โอเค ถือว่าฝึกขันติบารมี” กว่าจะได้เข้าไปกราบพระพุทธเมตตาก็ใช้เวลารอนานประมาณหนึ่ง เมื่อเข้าไปได้แล้ว เพื่อนร่วมคณะบอกให้อยู่ชื่นชมและซึมซับเอาพลังบารมีภายในนั้น แต่เมื่อเหลียวมองไปยังแถวด้านหลังที่มีคนรอคิวอีกยาวเหยียด ก็ต้องขอปลีกตัวออกมา เพื่อที่จะได้ไม่เป็นการเบียดเบียนคนอื่นที่เขามีจิตศรัทธาเช่นกัน พลังแห่งบารมีที่ไหนก็คงไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าหรือลับหลัง ภายในมหาเจดีย์ หรือว่าที่ไหนๆข้างนอกนั่น

พระอาจารย์และลามะน้อย
พระอาจารย์และลามะน้อย

เช้าวันนี้เราได้ที่นั่งสวดมนต์ปฏิบัติธรรมกันบริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พอเริ่มสว่างจึงได้สังเกตบริเวณโดยรอบชัดๆอีกครั้ง ตัวมหาเจดีย์นั้นสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และได้รับการดูแลต่อๆมาจากษัตริย์อินเดียที่นับถือพุทธ จนเมื่อพุทธศานาในอินเดียเรื่มเสื่อม บริเวณนี้จึงเป็นที่ยึดครองของพวกฮินดู ทั้งพระพุทธศาสนาและมหาเจดีย์ต่างก็เสื่อมโทรมลงไม่แพ้กัน ร่วมพันปีต่อมาพระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่าจึงได้ส่คณะทูตมาที่อินเดียเพื่อขอบูรณปฏิสังขรณ์ โดยทางรัฐบาลอินเดียและอังกฤษได้ส่งเซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม มาเป็นผู้ดูแลงาน และได้รับการซ่อมแซมจนประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรกดโลก และมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ร่มเงาของพระศรีมหาโพธิ์ที่เราได้อาศัยนั่งปฏิบัติธรรมกันในขณะนี้ นับเป็นรุ่นที่ 4 เข้าไปแล้ว ซึ่งเซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้นำหน่อจากรุ่นที่ 3 มาปลูกไว้บริเวณหลังพระแท่นวัชรอาสน์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า พระแท่นวัชรอาสน์นี้เป็นแท่นหินแกะสลัก สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเช่นกัน เชื่อว่าเป็นตำแหน่งเดียวกับรัตนบัลลังก์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ทุกวันนี้มีรั้วกั้นโดยรอบ ผู้คนจึงได้แค่ชะเง้อมองลอดและนมัสการจากภายนอก

ถ้ำดงคสิริ: เดินขึ้นเขาฝึกอุเบกขาและขันติบารมี

ว่าด้วยเรื่องการฝึกขันติบารมีและความอดทนจากการต่อคิวที่มหาเจดีย์พุทธคยาแล้ว อีกที่หนึ่งซึ่งเป็นสถานที่ฝึกใจไม่แพ้กัน ก็คือบริเวณเขาดงคสิริ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาก่อนที่จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยความที่ตั้งแต่ที่จอดรถและตลอดเส้นทางเดินขึ้นเขาเต็มไปด้วยขอทานที่มาดักรอเศษเงินจากนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญ เราต้องใจแข็งทำเป็นเมินเฉยต่อสายตาและเสียงวิงวอนเหล่านั้น ถือเป็นการฝึกอุเบกขาอย่างดีเยี่ยม ใครที่เดินไม่ไหว ที่นี่มีบริการเสลี่ยงให้นั่งขึ้นลงพร้อมลูกหาบ แต่เราก็ยังคงเลือกการเดินขึ้นเขาตามอย่างพระมหาสมณโคดม ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ลำบากอะไรเลย การบำเพ็ญทุกรกิริยาของพระองค์น่าจะลำบากกว่านี้หลายร้อยพันเท่า แต่ก็ยังไม่วายใช้บริการลูกหาบเป็นเด็กจิ๋วสองคน ถึงจะแอบรู้สึกผิดที่ใช้แรงงานเด็ก แต่เด็กน้อยสองคนหอบข้าวของวิ่งแซงหน้าพวกเราไปเสียอีก คงดีใจที่จะได้ค่าจ้างแบกสัมภาระ ที่ก็ไม่ได้หนักอะไรมากมาย มีเพียงเบาะรองนั่ง หนังสือสวดมนต์ และพวงมาลัยไหว้พระ

บนยอดเขาประดับธงทิวสีสันสดใสแบบทิเบต เพราะเป็นที่ตั้งของวัดทิเบต ซึ่งทำหน้าที่ดูแลสถานที่แห่งนี้ บนเขาดงคสิรินี้มีถ้ำคูหาเล็กๆแห่งหนึ่งที่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้นั่งทรมานพระวรกายภายในนี้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา หลายคนเข้าไปสักการะนั่งสวดมนต์และทำสมาธิภายในถ้ำ แต่ด้วยขนาดที่เล็กมาก แค่เข้าไปไม่ถึงสิบคนก็ดูจะแออัดแล้ว เราจึงเลี่ยงการเบียดเบียนคนอื่นมานั่งสมาธิด้านนอกสักพัก แล้วปลีกไปเดินชมวิวที่มองเห็นแม่น้ำเนรัญชราอยู่ไม่ไกล

พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยาในถ้ำดงคสิริ
พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยาในถ้ำดงคสิริ

ข้ามแม่น้ำเนรัญชรา: เยี่ยมบ้านนางสุชาดา ชิมข้าวมธุปายาส

สะพานข้ามแม่น้ำเนรัญชรา
สะพานข้ามแม่น้ำเนรัญชรา

ระหว่างทางกลับจากเขาดงคสิริ ผ่านแม่น้ำเนรัญชรา แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในอดีต ซึ่งในวันนี้มองไปเห็นแต่เพียงทรายเวิ้งว้าง  ตำนานเล่าขานว่า “คยา” เป็นชื่อของอสูรตนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่เมืองนี้ ซึ่งต้องคำสาปของพระวิษณุว่า “เมืองอสูรนี้มีน้ำขอให้มีแต่ทราย มีชายหญิงขออย่าให้มีคนงาม มีภูเขาขออย่าให้มีต้นไม้ มีคนค้าคนขายก็ขออย่าให้ร่ำรวย” ซึ่งเท่าที่เดินทางมา เราก็เห็นแต่ฝุ่นทรายและความแห้งแล้ง หาคนงามตามท้องถนนก็ยังไม่เจอ หรือว่าตำนานนี้จะเป็นจริง

ใกล้ค่ำ เราก็มาถึงบริเวณที่เคยเป็นบ้านของนางสุชาดา ซึ่งปัจจุบันเป็นเนินดินและมีสถูปทรงโอคว่ำ ยอดปรักหักพังไปตามกาลเวลา พิจารณาดูพื้นที่และอาณาบริเวณที่กว้างขวางแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะนางสุชาดานั้นเป็นลูกสาวของเศรษฐี ตามพุทธประวัติกล่าวว่านางได้ถวายข้าวมธุปายาสให้แก่พระสมณโคดม ด้วยเข้าใจว่าเป็นเทวดาที่นางได้เคยบนบานไว้ ซึ่งถือเป็นพระกระยาหารมื้อสุดท้ายที่พระพุทธองค์ฉันก่อนจะตรัสรู้ ว่ากันว่าข้าวมธุปายาสซึ่งเป็นข้างหุงปรุงด้วยน้ำนมอย่างดีของนางนี้พิเศษกว่าใคร เกิดจากการนำโค 1,000 ตัวไปเลี้ยงในป่าชะเอม เพื่อให้น้ำนมโคมีรสหวาน จากนั้นแบ่งโคออกเป็นสองพวก รีดนมจากโค 500 ตัวแรก ให้โคอีก 500 กิน แล้วแบ่งครึ่ง นำนมจากวัว 250 ที่ดื่มนมจากวัว 500 ตัวแรก มาให้อีก 250 ตัวกิน ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเหลือวัว 8 ตัว จะได้วัวที่มีนมข้นหวานที่สุด แล้วนำนมจากวัวแปดตัวนี้ไปหุงเป็นข้าวปายาส

เลยบ้านนางสุชาดาข้ามทุ่งนาไป เป็นจุดที่นางถวายข้าวมธุปายาสนี้ให้แก่พระพุทธองค์ มองเห็นยอดเขาดงคสิริอยู่ไกลๆ ตำแหน่งนั้นปัจจุบันเป็นวัดสุชาดา แต่ด้วยความที่เริ่มจะมืดแล้ว เราจึงได้แค่ชะเง้อมองไปตามปลายนิ้วที่พระอาจารย์ชี้ให้ดู แล้วบ่ายหน้าเดินทางต่อไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ฝั่งน้ำบริเวณนี้ มีวัดเล็กๆตั้งอยู่ในจุดที่โสถิยพราหมณ์ถวายหญ้ากุศะให้พระพุทธองค์รองที่ประทับก่อนตรัสรู้ ข้ามถนนแคบๆมาก็ถึงริมฝั่งแม่น้ำ จุดที่พระพุทธเจ้าเสด็จข้ามไปประทับ ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เราเดินลงไปในแม่น้ำเนรัญชราที่ตอนนี้แห้งเหือดราวกับทะเลทราย มีพุ่มไม้แห้งๆ ถุงพลาสติก และขยะกระจายอยู่ทั่วไป มองข้ามความเวิ้งว้างไปในแสงสลัวที่กำลังกลืนกินผืนทราย เห็นแสงไฟสว่างไสวจากมหาเจดีย์พุทธคยาลิบๆอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม ลมหนาวเริ่มพัดเอาเม็ดทรายละเอียดมาปะทะเนื้อตัวและหน้าตา ความเวิ้งว้างราวกับทะเลทรายในวันนี้ ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าตรงนี้หรือ คือที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีพญานาคนอนคุดคู้อยู่เบื้องล่าง

หลังมื้อค่ำที่โรงแรม เรามีข้าวมธุปายาสเป็นของหวาน รสชาติเหมือนข้าวตุ๋นในน้ำนม ไม่ได้หวานหอมราวกับข้าวทิพย์ เพราะไม่ได้มาจากนมโคที่เลี้ยงในป่าชะเอมอย่างของนางสุชาดา

พุทธคยาในวันนี้

คืนสุดท้ายในพุทธคยา หลังจากสวดมนต์เย็นแล้ว เราเดินชมบรรยากาศโดยรอบ นอกบริเวณวัดเต็มไปด้วยร้านค้าและแผงลอย สภาพไม่ต่างจากตลาดนัดในแหล่งท่องเที่ยวบ้านเราหรือที่ไหนๆทั่วโลก สินค้ายอดนิยมคือพวกเสื้อผ้า เครื่องประดับ พระพุทธรูป เครื่องรางต่างๆ ดูๆไปก็คล้ายๆถนนสีลมหรือข้าวสารบ้านเรา ต่างกันตรงที่คนขายและสินค้าเท่านั้น คนขายพวกนี้ก็รู้งาน พอรู้ว่าเป็นคนไทยจะให้การการต้อนรับเป็นพิเศษ บางคนคุยภาษาไทยต่อรองกันอย่างคล่องปร๋อ เพราะคนไทยคือชาติที่มาจับจ่ายใช้สอยที่นี่มากเป็นอันดับหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเป็นที่ต้อนรับอย่างดี จะว่าไปคนอินเดียนับว่าเป็นคนตลก มีมุกแพรวพราว แต่แฝงไว้ด้วยเล่ห์เหลี่ยมใช้ได้

ในช่วงเทศกาลแสวงบุญนี้องค์ดาไลลามะจะเสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองคยา ชาวทิเบตทั้งพระและฆราวาสต่างร่วมเดินทางมาทั้งเพื่อนมัสการพุทธคยาและเข้าเฝ้าองค์ดาไลลามะไปพร้อมกัน นอกจากจีวรสีแดงเข้มของลามะที่ปลิวว่อนไปทั่วเมืองแล้ว ธงทิวของทิเบตที่ประดับประดาอยู่ทั่วไปก็ปลิวไสวไม่แพ้กัน ชาวทิเบตนี้มาทีอยู่กันยาวแรมเดือน บ้างมาเช่าเกสต์เฮ้าส์ บ้างมาตั้งเต้นท์ตามข้างทาง ลามะและฆราวาสหลายคนถึงขั้นปักหลักนอนค้างอ้างแรมกันที่รอบมหาเจดีย์กันเลย ตื่นเช้ามาก็เริ่มกราบอัษฎางคประดิษฐ์กันจนมืดค่ำ ด้วยความที่มาอยู่กันเป็นเวลานานจนเกิดเป็นชุมชนย่อมๆรอบพุทธคยา ที่บริเวณทางขึ้นพุทธคยาจึงมีตลาดนัดทิเบตไว้ให้คนมาจับจ่ายใช้สอยข้าวของเครื่องใช้กัน สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว การเดินชมตลาดนัดทิเบตก็ให้ความเพลิดเพลินที่แปลกตาไปอีกแบบ

ลามะทิเบตที่ปักกลดบริเวณรอบมหาเจดีย์พุทธคยา
ลามะทิเบตที่ปักกลดบริเวณรอบมหาเจดีย์พุทธคยา

ก่อนเดินทางกลับเมืองไทย เราแวะไปส่งพระอาจารย์และไหว้พระทำบุญที่วัดไทยพุทธคยากันอีกครั้ง วัดนี้ถือเป็นวัดไทยวัดแรกในเมืองคยา สร้างขึ้นตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดียในโอกาศเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษในปีพ.ศ. 2500 ตัวอุโบสถสวยงามตามแบบวัดไทย ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนจำลองมาจากเรื่องพระมหาชนก วัดนี้ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของคนไทย มีทั้งร้านอาหาร ร้านค้า และที่พักสำหรับคนไทย ให้นักเดินทางสามารถเข้าพักได้ โดยจองที่พักล่วงหน้าได้เว็บไซต์ของวัด http://www.watthaibuddhagaya935.com/ อัตราค่าที่พักเป็นปัจจัยตามแต่จิตศรัทธา นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในเมืองคยาฟรี โดยจะเปิดทำการ ในช่วงเทศกาลแสวงบุญ มีคณะแพทย์เดินทางจากเมืองไทยมาให้การรักษา ถือเป็นกุศโลบายนำคนเข้ามาสู่วัด และเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอีกทางหนึ่ง นอกจากวัดไทยแล้ว เมืองคยายังมีวัดญี่ปุ่น วัดภูฏาน และวัดนานาชาติอื่นๆ ที่ต่างจำลองเอกลักษณ์ของศิลปะแต่ละชาติถ่ายทอดมาไว้ที่นี่

เราได้ฝึกขันติบารมีกันอีกครั้งทิ้งท้ายในเมืองคยา กับกระบบการจัดการแบบอินเดียๆของเจ้าหน้าที่สนามบิน ที่นึกอยากจะตัดตอน ตัดแถว เปิดแถวใหม่ก็ทำกันเสียดื้อๆ สุดท้ายบารมีก็ไม่บังเกิด เมื่อพระลามะ (อีกแล้ว) และสาวทิเบตเดินตัดแถวมาแซงหน้า คณะบุญของเราก็กระทำบาปเล็กๆด้วยการมีปากเสียงกับลามะนั้น จนต้องมานั่งสงบจิตพิจารณาใจอีกครู่ใหญ่ กว่าจิตใจที่ขุ่นมัวนั้นจะค่อยๆจางหายไปในระหว่างที่เดินทางกลับ ดูเอาเถิด แม้แต่นักบวชที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็ยังมิวายที่จะปฏิบัติมิดี ปฏิบัติมิชอบได้ไม่แพ้ฆราวาสอย่างเราๆ

หลังกลับมาถึงเมืองไทยได้สักสองวัน จู่ๆก็นึกขึ้นได้ว่า เมื่อแรกสายการบินแห่งชาติเปิดเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯสู่คยาเมื่อหลายปีก่อน คนดูแลองค์ประกอบด้านความงามของภาพในโฆษณาของสายการบินชิ้นนั้นคือข้าพเจ้าเอง มานั่งนึกดูก็ให้ประหลาดใจในความบังเอิญนี้…หรือจริงๆแล้ว ทั้งสิ้นทั้งปวงนี้จะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ?

Travel Info

  • การเดินทางไปยังอินเดีย ต้องใช้วีซ่า หากเดินทางไปยังเมืองคยา สามารถยื่นขอวีซ่าออนไลน์ได้ และจะได้รับเป็น E-VISA แนะนำให้ปริ้นต์และพกติดตัวไปด้วย
  • ปัจจุบันมีสายการบินของไทยหลายสายบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-พุทธคยา ทั้งการบินไทย ไทยสไมล์ และ แอร์เอเชีย
  • เวลาท้องถิ่นของอินเดียช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง 30 นาที
  • อุณหภูมิในช่วงเดือนธันวาคม กลางวันจะอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียสเศษๆ กลางคืนและช่วงเช้ามืดอาจต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ควรเตรียมเสื้อกันหนาวและกันลมไปด้วย รวมถึงหน้ากากกันฝุ่น เพราะที่อินเดียมีค่าฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างสูง
  • สกุลเงิน คือ อินเดียนรูปี 1 รูปี = 100 ไปซ่า แนะนำให้แลกเป็นเงินสกุลยูเอส ดอลล่าร์ แล้วไปแลกเป็นเงินรูปีที่โน่น แต่บริเวณพุทธคยา เงินไทยก็เป็นที่ยอมรับ ร้านค้าบางร้านสามารถจ่ายเป็นเงินบาทของไทยได้
  • ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่คือภาษาฮินดี แต่คนอินเดียส่วนใหญ่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ ไกด์และร้านค้าในพุทธคยาหลายคนสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยง่ายๆได้
  • สัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตไม่มีปัญหา ถ้าซื้อซิมอินเดียจะถูกกว่าเปิดโรมมิ่ง
  • อาหารข้างทางราคาย่อมเยาว์ แต่แนะนำสำหรับคนที่แข็งแรงเท่านั้น ถ้าไม่มั่นใจควรรับประทานในร้านอาหารหรือโรงแรม ดื่มน้ำจากน้ำดื่มบรรจุขวดเท่านั้น ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปในโรงแรม ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต
  • การเดินทางภายในเมืองคยา สามารถเรียกใช้บริการแท็กซี่ หรือสามล้อหน้าตาเหมือนตุ๊กๆบ้านเรา ราคาตามความสามารถในการต่อรอง หากต้องการเดินทางไปยังเมืองอื่นใกล้ๆ สามารถนั่งรถไฟได้ (หากมีเวลา แนะนำให้ไปเมืองพาราณสี อีกหนึ่งสังเวชนียสถาน ซึ่งพระพุทธองค์ได้แสดงปฐมเทศนาที่แห่งนั้น)

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.