Play Video

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับภาพของครูโยคะในภาพอินสตาแกรมสวยๆ บ้างหกคะเมนตีลังกาทำท่าเฮดสแตนใช้ศีรษะยืนต่างเท้า บ้างพับตัวบิดร่างแทบจะเป็นเกลียว ราวกับว่ากายเนื้อนั้นปราศจากกระดูก แต่เบื้องหลังภาพชวนอัศจรรย์ โยคะเป็นอะไรมากกว่าแค่ท่าโพสเท่ๆแสนฉาบฉวย หลายคนฝึกโยคะอย่างจริงจังจนได้ค้นพบตัวตนใหม่ ถึงขั้นหันหลังให้กับวิถีชีวิตแบบเดิมๆ

อดีตครีเอทีฟบริษัทโฆษณา โปรเจ็กต์แมเนเจอร์ผู้คุมงานก่อสร้าง เลขานุการ พนักงานธนาคารผู้หันมาเป็นครูสอนภาษา (และเคยทำงานในเซ็กส์ช็อป) และวีเจที่เราอาจจะเคยคุ้นหน้ากันทางจอโทรทัศน์เมื่อก่อน ได้มาบอกเล่าเรื่องราวของการค้นพบความหมายใหม่แห่งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับโยคะ เพื่อให้เราได้ทราบว่า อะไรที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ทิ้งหน้าที่การงานในสายอาชีพที่ค่านิยมของคนทั่วไปมองว่ามั่นคง มีหน้ามีตาในสังคม แล้วเลือกเดินบนเส้นทางของการเป็นครูสอนโยคะที่แสนเรียบง่ายอย่างทุกวันนี้ 

อดีตครีเอทีฟบริษัทโฆษณา

จากครีเอทีฟที่หน้าที่การงานกำลังรุ่งบนสายงานโฆษณา นวรัตน์ ตีรประเสริฐ เริ่มฝึกโยคะ เพื่อเป็นการออกกำลังกายในยามเช้า เพราะเธอเป็นคนตื่นเช้ามาก ก่อนไปทำงานไม่รู้จะทำอะไรก็มาออกกำลังกายด้วยการฝึกโยคะ จนเริ่มสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ.. (อ่านต่อ)

อดีตวีเจ แชนเนลวี ไทยแลนด์ ปัจจุบันเป็นดีเจวิทยุควบคู่กับการสอนโยคะ

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน โยคะในบ้านเราไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ ด้วยความที่เป็นวีเจ เขาเลยได้เห็นไลฟ์สไตล์ของศิลปินต่างประเทศหลายคนที่ฝึกโยคะ โยคะสำหรับเขาในตอนนั้นจึงเป็นแค่ท่าโพสเท่ๆของมาดอนน่าในคอนเสิร์ต ซึ่งจุดเริ่มจากตรงนี้ทำให้วีเจปาล์มในตอนนั้นเริ่มฝึกโยคะ… (อ่านต่อ)

อดีตเลขานุการ

เริ่มจากฝึกโยคะร้อน พอเข้าไปก็เป็นลมค่ะ รู้สึกว่า โอ้ย ทำไมมันยากจัง แล้วก็ไม่ฝึกเลย พอออกมาจากคลาสก็บอกกับตัวเองว่า ไม่ฝึกละ อะไรมันจะยากอย่างนี้.. (อ่านต่อ)

อดีตพนักงานธนาคารและครูสอนภาษาอังกฤษ

ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากของชีวิต ผมเริ่มหันเข้าหาโยคะมากขึ้น ยิ่งฝึกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งอยากทำมันมากขึ้นเท่านั้น โยคะช่วยให้ผมยังอยู่กับความเป็นจริง และช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น.. (อ่านต่อ)

อดีตโปรเจ็กต์แมเนเจอร์

ครูอันย่าเริ่มฝึกโยคะเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยอันเกิดจากความเครียด ที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหลังและอักเสบลุกลามไปจนถึงกระเพาะอาหาร เธอจึงได้รับโจทย์ที่แสนแอ็บสแตร็คจากคุณหมอว่าห้ามเครียด ซึ่งการตีโจทย์ของเธอคือการออกกำลังกายคลายเครียด และโยคะก็คือทางเลือกนั้น จนถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลา 13 ปีแล้ว.. (อ่านต่อ)

นวรัตน์ ตีรประเสริฐ (ครูเน้า)

อดีตครีเอทีฟบริษัทโฆษณา

Naw - Ashtanga Samasthiti Bangkok
ครูเน้า

จากครีเอทีฟที่หน้าที่การงานกำลังรุ่งบนสายงานโฆษณา นวรัตน์ ตีรประเสริฐ เริ่มฝึกโยคะ เพื่อเป็นการออกกำลังกายในยามเช้า เพราะเธอเป็นคนตื่นเช้ามาก ก่อนไปทำงานไม่รู้จะทำอะไรก็มาออกกำลังกายด้วยการฝึกโยคะ จนเริ่มสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ โดยเจ้าตัวเล่าว่า “ความรู้สึก ณ เวลาหนึ่ง ณ อายุหนึ่ง เราเอ็นจอยกับการเป็นครีเอทีฟ มันเป็นแรงผลักดันและแพสชั่นของเรา แต่พอทำงานครีเอทีฟมานานเป็นสิบปี มาถึงจุดหนึ่ง แพสชั่นของการเป็นครีเอทีฟมันน้อยลง รู้สึกว่าอยากบริหารเวลาของตัวเองได้ อยากยุ่งกับคนให้น้อยลง ทุกวันที่ฝึกโยคะเป็นการใช้เวลากับตัวเอง ไม่ต้องยุ่งยากกับคนอื่นมากนัก พอเริ่มฝึกไปเรื่อยๆก็สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและสมาธิของตัวเอง โดยเริ่มแรกเป็นโยคะที่ฟิตเนสซึ่งยังไม่มีรายละเอียดอะไรมากมาย เขาไม่ได้สอนเรื่องการหายใจและความเคลื่อนไหวของร่างกาย พอเราเริ่มเรียนวิธีการฝึกโยคะที่ถูกต้องในรายละเอียด ทำให้เรารู้ว่านี่ต่างหากที่เป็นสิ่งที่ต้องการ มันไม่ใช่แค่เรื่องของกายภาพภายนอก แต่มันเป็นเรื่องของการจัดการภายในร่างกาย”

เมื่อเริ่มฝึกอย่างจริงจังและศึกษาลึกลงไปเรื่อยๆ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นครีเอทีฟมาสอนโยคะอย่างเต็มตัว และกลายเป็น ‘ครูเน้า’ ของลูกศิษย์ลูกหา ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นสองอาชีพที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่ในความเป็นอาชีพแล้วมีทั้งความเหมือนและความต่าง “ระหว่างการเป็นครีเอทีฟและการเป็นครูสอนโยคะ ในความเป็นอาชีพ (profession) มันไม่ได้ต่างกัน มันมีเส้นทางมีเป้าหมายอะไรเหมือนกัน แต่ในแง่ความรู้สึกส่วนตัว มันแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เป้าหมายของการเป็นครีเอทีฟ คือการทำงานให้ขายได้ ถ้าทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าเราก็จะไม่ค่อยแฮปปี้ แต่ถ้าทำแล้วได้รางวัลเราก็จะแฮปปี้ แต่พอมาเป็นครูสอนโยคะ สิ่งที่ตอบโจทย์คือ เรามีสัมผัสในเรื่องของรายละเอียดส่วนตัว เราเห็นพัฒนาการและรายละเอียดของการฝึกของแต่ละคนจริงๆ มันอาจจะเรียกว่าเป้าหมายได้ไม่เต็มปาก แต่มันชูใจ มันมีความหมายของการสอนและการแชร์ประสบการณ์ ซึ่งมันชัดเจนกว่า”

Naw - Ashtanga Samasthiti Bangkok

เธอเล่าว่าเมื่อก่อนยังไม่ค่อยรู้จักตัวเอง ยังติดอยู่กับกระแสโลก แต่พอฝึกโยคะแล้วได้อยู่กับตัวเอง ได้เห็นตัวเองมากขึ้น เลยทำให้รู้ว่าอะไรที่ทำให้ตัวเองในปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม “เราไม่ต้องพยายามที่จะเปลี่ยน แต่เรารู้ว่าอะไรที่จะเป็นแนวทางที่ทำให้มันดีขึ้น เรียกว่าเพิ่มความพยายามมากกว่า อะไรที่มันมีโอกาสจะทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งการฝึกและการสอนทุกอย่างมันจบได้ด้วยตัวเราเองคนเดียว มันเห็นพัฒนาการต่อหน้าเรา ตรงหน้าเรา โดยที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนมากมายหลายสเต็ปกว่าจะเห็นผล อันนี้คือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า ทุกอย่างรอบๆตัวหรือแม้แต่ตัวเราเองเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้น”

และเมื่อเริ่มสอนโยคะ ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ “หลังจากเป็นครูแล้ว คำว่า ‘อาสนะ’ มันจะไกลจากเรามากขึ้น หมายความว่าไม่ได้เริ่มเบอร์หนึ่งที่อาสนะ แต่เราเริ่มต้นเบอร์หนึ่งจากคนที่เรามาสอนหรือตัวเราเองก่อน เพราะเราต้องมองจากตัวเองเป็นจุดเริ่มต้น ตัวเราเองคือพื้นฐาน ทิศทางและเป้าหมายในการฝึกโยคะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องหาตัวเองให้เจอก่อน หลังจากนั้นจะเห็นคุณค่าของโยคะที่มีมิติมากกว่าแค่คำว่าอาสนะ หรือ final pose ที่เราเห็นตามอินสตาแกรมสวยๆ ซึ่งเป็นแค่ภาพมายา เราไม่ได้เปลี่ยนแค่ร่างกาย แต่เราต้องเปลี่ยนให้ลึกถึงความรู้สึกของตัวเอง”

“โยคะเป็นเรื่องของการค้นหาตัวเอง หรือ Self Discovery ทุกอย่างเริ่มจากตัวเราเป็นพื้นฐานก่อน journey ของคำว่า self มันคือตลอดชีวิต มันยังทำได้ตลอดชีวิต เจอเร็ว เริ่มเร็ว มันก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้เร็ว”

คนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เคยได้ลองสัมผัสกับโยคะ อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องของโยคะ แม้จะมีหลากหลายแขนง แต่ครูเน้ายืนยันว่าโยคะไม่ใช่ลัทธิ ไม่ใช่ศาสนา แต่ถามว่าเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ หรือ Spiritual ได้หรือไม่ เธอตอบว่าได้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดในการฝึกของแต่ละคน บางคนอาจจะต้องการแค่ความแข็งแรงทางกายภาพ บางคนอาจจะได้ในเรื่องของสมาธิ เป็นสมาธิแบบเคลื่อนไหว เพราะหัวใจของโยคะอยู่ที่ลมหายใจ หนึ่งลมหายใจต่อหนึ่งการเคลื่อนไหว สติของการเคลื่อนไหวหนึ่งลมหายใจก็เหมือนกับการทำอานาปานสติ สามารถประยุกต์จากการฝึกบนเสื่อไปใช้ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็เรียกสติตัวเองได้เสมอ

ถึงทุกวันนี้ครูเน้าสอนโยคะมาร่วมสิบปีแล้ว และได้ก่อตั้ง Ashtanga Samasthiti สตูดิโอโยคะสายอัชทางก้า หรือ อัษฎางค์โยคะ ด้วยความที่อยากสอนในแบบของตัวเอง “คือสอนให้ทุกคนรู้ตัวเอง หาตัวเองให้เจอก่อน ที่นี่เราจะเริ่มตั้งแต่การที่เรารู้จักลมหายใจของเรามากน้อยแค่ไหน คุณภาพของลมหายใจเป็นอย่างไร ยังไม่ต้องห่วงในเรื่องท่าสุดท้าย แต่ทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวกับการหายใจสัมพันธ์กัน ทุกวันนี้ไม่มีวันไหนที่ตื่นขึ้นมาแล้วไม่อยากฝึก ไม่อยากสอน มีแค่ว่าระดับของพลังงานมันมีมากน้อยแค่ไหน ไม่มีวันไหนที่เควสชั่นตัวเองว่าเลือกทางผิดหรือเลือกทางถูก คิดว่านี่คือสิ่งที่เราสนใจและอยากจะทำทุกวัน ดังนั้นก็คิดว่าจะทำต่อไปจนกว่าจะหมดแรง”

ฐิตวินน์ คำเจริญ (ครูปาล์ม)

อดีตวีเจ แชนเนลวี ไทยแลนด์ ปัจจุบันเป็นดีเจวิทยุควบคู่กับการสอนโยคะ

DJ Palm
ครูปาล์ม

ต่างจากครูเน้าที่ไม่เคยมีวันไหนตื่นขึ้นมาแล้วไม่อยากสอนโยคะ ฐิตวินน์ หรือ วีเจปาล์ม แห่งแชนเนลวี ไทยแลนด์ ที่ตอนนี้กลายมาเป็นครูปาล์มแล้ว บอกกับเราว่าช่วงเวลาที่ไม่อยากสอนโยคะมีอยู่แทบทุกวัน “ไม่รู้ว่าเพราะมีโซเชียลมีเดียที่เราเข้าไปเห็นแล้วมันรบกวนจิตใจหรือเปล่า มันจะมีพวกรูป คลิป หรือคำอะไรก็แล้วแต่ ที่คนซึ่งบอกว่าตัวเองเป็นครูสอนโยคะลง พอเราอ่านแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่ใช่ พออ่านคอมเม้นต์แล้วเห็นว่ามีคนเชิดชู มันทำให้เรารู้สึกสงสัยว่า แล้วเราจะเป็นคนหนึ่งที่ไปสวนกระแสเขาเหรอ มันก็หดหู่ แล้วถ้าสมมติว่าเราเพิ่งเห็นสิ่งนั้น พอไปสอนแล้วนักเรียนไปเห็นสิ่งนั้นมา แล้วมาบอกเราว่าครูทำอย่างนั้นสิ ความรู้สึกของเราเหมือนกับมันพังทลาย แล้วเราต้องค่อยๆเก็บเศษที่มันพังทลายลงมา ซึ่งไม่ได้จะบอกว่าสิ่งที่เราคิดถูก มันไม่มีอะไรผิดถูก แต่มันน่าจะมีอะไรที่เหมาะสมกับคนที่ฝึกมากกว่า เป็นคนค่อนข้างหัวโบราณในเรื่องของโยคะ เพราะเราถูกสอนมาว่า ลองมองลึกเข้าไปในท่าหนึ่งท่า มันไม่ใช่แค่การถ่ายรูปแล้วลงโคว้ทคำพูดสวยๆ ซึ่งกระแสสังคมโลกมันกำลังเป็นอย่างนั้น และถ้าใครไม่ทำ ก็จะไม่มีคนรู้จัก ไม่มีใครมาเรียนด้วย”

การเริ่มต้นบนเส้นทางโยคะของครูปาล์มค่อนข้างจะต่างจากคนอื่น เพราะแรงบันดาลใจในการฝึกโยคะของเขามาจาก “มาดอนน่า” ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน โยคะในบ้านเราไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ ด้วยความที่เป็นวีเจ เขาเลยได้เห็นไลฟ์สไตล์ของศิลปินต่างประเทศหลายคนที่ฝึกโยคะ โยคะสำหรับเขาในตอนนั้นจึงเป็นแค่ท่าโพสเท่ๆของมาดอนน่าในคอนเสิร์ต ซึ่งจุดเริ่มจากตรงนี้ทำให้วีเจปาล์มในตอนนั้นเริ่มฝึกโยคะ แรกๆก็อยากจะบินได้อย่างใครๆเขา สุดท้ายก็กลายเป็นบาดเจ็บ ต้องหยุดฝึกไปช่วงหนึ่งเพื่อทำกายภาพบำบัด ก่อนที่จะกลับมาพร้อมมุมมองใหม่ที่มีต่อโยคะ “คราวนี้มันเหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ของเราเลย มันมีมายด์เซ็ตใหม่ๆที่ทำให้เราได้ทบทวน หยุดคิด และตัดสินใจกับมันมากขึ้น ทำให้เราได้ฝึกในแง่มุมอื่นๆมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าฝึกโยคะต้องทำท่ายากอย่างเดียว แต่เราได้ศึกษาอะไรหลายๆอย่างมากขึ้น สองปีแรกเราไม่ได้ค้นคว้าเลยว่าจริงๆแล้วโยคะคืออะไร ก็แค่ฝึกตามศิลปิน หาโรงเรียน ฝึกตามครู แล้วก็เชื่อครูทุกอย่าง ตอนหลังถึงได้มารู้ว่าจริงๆแล้วร่างกายของเราคืออะไร และฝึกไปเพื่ออะไร”

ความที่เคยบาดเจ็บมาก่อนนี่เอง ที่เป็นเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจเปลี่ยนจากนักเรียนมาเป็นครู เพราะตัวเองไม่เคยเจอครูคนไหนที่ให้ความสำคัญกับนักเรียนเป็นคนๆ ตามสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งเกิดมาด้วยลักษณะทางกายภาพที่ต่างกัน รวมไปถึงการเอาโยคะเข้าไปจัดการกับจิตใจของมนุษย์แต่ละคน “เราอาจจะไปผิดที่ก็ได้ หรือยังไม่เจอ ก็เลยลองดูว่าเราอาจจะทำได้ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็สอนมาหกปีแล้ว”

ครูปาล์มถ้าถามถึงความแตกต่างระหว่างการเป็นครูกับนักเรียนแล้ว ครูปาล์มบอกความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาว่า “การเป็นครูมันมีความแฮปปี้มากกว่าไม่แฮปปี้ แต่ไม่ใช่ว่าแฮปปี้จังเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เอาตรงๆแล้วชอบเป็นนักเรียนมากกว่า เดินเข้าไปไม่ต้องคิดอะไรเลย แบลงค์ๆ ไทร่าแบลงค์เข้าไปเลย ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตใคร แต่พอเป็นครูแล้ว เราต้องเตรียม ต้องใส่ใจ ต้องรับผิดชอบชีวิตชีวิตของมนุษย์ ต้องละเอียดในสิ่งที่เราสอนไป”

จากภาพจำของวีเจขี้เล่น เฮฮา เมื่อสิบกว่าปีก่อน วันนี้ครูปาล์มดูนิ่งขึ้น แม้จะยังคงเหลือวี่แววของความแก่นเซี้ยวอยู่หน่อยๆก็ตาม

“มันมีบุคลิกภาพบางอย่างซึ่งน่าจะเกิดจากสิ่งที่โยคะเข้าไปทำกับข้างในของเรา เช่น เราจะนิ่งมากขึ้น คิดมากขึ้น มีสมาธิกับหลายๆอย่างมากขึ้น สงบมากขึ้น เมื่อหลายปีก่อนจะตั้งคำถามกับเรื่องการประสบความสำเร็จในชีวิต ว่าจะประสบความสำเร็จด้านไหนบ้าง หน้าที่การงานจะเป็นอย่างไร จะต้องมีเงินเท่าไหร่ แล้วอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้คำถามเหล่านั้นมันค่อยๆกลืนหายไป อีโก้ก็ลดลง”

“เราฝึกโยคะแบบที่รู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งบางอย่างมันก็สวนทางกับกระแสนิยม กับคนที่ประสบความสำเร็จในการเปิดสตูดิโอโยคะแล้วมีเงิน หรือคนที่ชอบถ่ายรูปตามโซเชียลแล้วนักเรียนเห็น นักเรียนตามเยอะ ซึ่งเราไปอีกทางหนึ่งแต่มันได้ความสงบในจิตใจมากกว่า”

แม้ภาพมายาในโซเชียลจะรบกวนจิตใจจนถึงขั้นทำให้ความรู้สึกของเขาพังทลายลงในบางครั้ง แต่ครูปาล์มก็ค่อยๆกอบเก็บเศษเสี้ยวที่พังทลายเหล่านั้นมาประกอบขึ้นใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นที่ยังมีอยู่เต็มหัวใจ “ก็ต้องอดทน ทุกวันนี้ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราจะให้นักเรียนคืออะไร จะบอกนักเรียนที่มาเรียนครู และบอกเพื่อนๆที่เป็นครูโยคะหลายคนว่า ก่อนที่จะเดินเข้าไปสอนต้องคิดไว้แล้วว่าอยากสอนให้นักเรียนได้อะไร จะไม่มีวันแบลงค์เข้าไปสอน และมั่นใจว่าสิ่งนั้นมันควรและมันใช่สำหรับนักเรียนแต่ละคน เขาจะต้องได้อะไรกลับบ้านไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแข็งแรงของร่างกาย กล้ามเนื้อ หรือหัวใจข้างใน”

ธัญวรัตน์ หงษ์อ่อน (ครูเอ๋)

อดีตเลขานุการ

ครูเอ๋ - Ashtanga Samasthiti Bangkok
ครูเอ๋

“เริ่มจากฝึกโยคะร้อน พอเข้าไปก็เป็นลมค่ะ รู้สึกว่า โอ้ย ทำไมมันยากจัง แล้วก็ไม่ฝึกเลย พอออกมาจากคลาสก็บอกกับตัวเองว่า ไม่ฝึกละ อะไรมันจะยากอย่างนี้ ทำไมฉันต้องเป็นลม แต่ผลที่ได้คือ อยู่ดีๆเหงื่อมันก็ออกเอง ก็รู้สึกสดชื่น สบายตัว ก็เลยทำให้ต้องกลับไปอีก และเริ่มฝึกต่อมาเรื่อยๆ” ธัญวรัตน์ หงษ์อ่อน หรือ ครูเอ๋ อดีตเลขานุการ ย้อนถึงประสบการณ์แรกที่ไม่ค่อยน่าประทับใจนักกับโยคะ

เธอเองก็เหมือนกับอีกหลายคนที่เริ่มฝึกโยคะเป็นการออกกำลังกาย แม้จะเริ่มต้นด้วยการเป็นลม แต่ก็ฝึกมาเรื่อยๆ จนไปเข้าคลาสอัชทางก้าครั้งแรกนั่นแหละ ถึงเริ่มหลงรักโยคะมากขึ้น “รู้สึกประทับใจว่าทำไมมันดูแข็งแรง ดูเท่จัง มีการกระโดด มีการลอยตัว   หลังจากนั้นก็เริ่มจริงจังกับการฝึกอัชทางก้า พอฝึกได้สักพักก็เลยไปเข้าคอร์สครู”

จนเมื่อวันหนึ่งบริษัทที่ทำงานอยู่เกิดภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน เธอก็เริ่มมองหาทางเลือกในสายอาชีพอื่น เมื่อเห็นเพื่อนๆในคลาสโยคะเขาเป็นครูกัน เธอจึงเริ่มทดลองสอนบ้าง “พอเริ่มรู้สึกว่าสอนได้ มีความมั่นใจ เราก็ไปหาเรียนเพิ่มเติม แล้วช่วงนั้นบริษัทก็ยังยืดเยื้อเรื่องการจ่ายเงิน เลยตัดสินใจว่าไปดีกว่า ให้คนที่เขาไม่มีทางเลือกอยู่ต่อ ให้บริษัทเอาเงินมาจ่ายให้คนที่เขาลำบากมากกว่าเราดีกว่า ก็ตัดสินใจลาออก แล้วออกมาสอนโยคะเต็มตัว ไม่ได้ทำอาชีพอื่นอีกเลย”

ตลอดเวลาของการฝึกโยคะ 6 ปี และสอนโยคะ 2 ปี ของครูเอ๋ ร่างกายและความคิดต่างพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น “พอเราฝึกไปเรื่อยๆ มันเริ่มกระเทาะเปลือกข้างนอกของเราออก แล้วเข้าไปข้างในลึกขึ้นๆ จากเดิมที่รู้สึกแค่ความตึงข้างนอก ก็ค่อยๆคลาย ผิวหนังระดับลึกก็ค่อยๆคลายขึ้น จนเข้าไปข้างในใจ แล้วใจเราก็เย็นลง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น โยคะนี่มันสอนนะคะ เวลาเราเห็นคนอื่นทำท่านี่มันดูง่าย แต่พอเราไปปูเสื่อฝึกเองนี่มันเห็นเลยว่าไม่ง่าย แล้วแต่ละคนที่ทำท่าออกไปมันไม่เหมือนกัน เพราะมันคนละร่าง มันเลยทำให้เราเข้าใจว่าคนที่เขาใช้ชีวิตอย่างนั้นอย่างนี้มันคือเรื่องของเขา เราไปตัดสินเขาไม่ได้”

 “เมื่อก่อนเวลาที่เราทำงาน เราต้องฟาดฟันกับอุปสรรคที่มันเข้ามาขัดขวางการทำงานของเราหลายๆอย่าง มีการขัดแย้งกับคนอื่นในบางครั้ง ต้องใช้ยุทธวิธีหลายอย่างเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง บางทีก็ลืมนึกไปว่าเราอาจจะทำให้คนอื่นเสียใจด้วยคำพูดหรือการกระทำ บางทีเราก็ต้องนอบน้อมถ่อมตนจนเกินไปเพื่อให้งานมันลุล่วง แต่พอมาเป็นครูสอนโยคะ เหมือนเรายืนอยู่บนความเป็นจริงว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ”

ในมุมมองของเธอ การเป็นครูสอนโยคะไม่ได้แตกต่างจากครูในแขนงอื่นๆ จริตของคนที่เป็นครู จะมีจรรยาบรรณ มีความใจเย็น และมีวิธีการจัดการอย่างเป็นลำดับขั้น “คนที่จะมาเป็นครูในทุกอาชีพต้องมีความใจเย็น มีกระบวนการ มีขั้นตอนในการจัดการ ถึงจะสามารถไปสอน ไปถ่ายทอด ไปบอกคนอื่นได้ ตอนที่เป็นนักเรียนเราก็มองโยคะเป็นการออกกำลังกาย พอมาเป็นครูแล้วเราจะเห็นว่าโยคะมันไม่ใช่แค่การออกท่าทาง โยคะมันคือวิถีชีวิต คือการจัดการการกิน การนอน วิธีการคิด และการใช้ชีวิต”

Mark Scodellaro (ครูมาร์ค)

อดีตพนักงานธนาคารและครูสอนภาษาอังกฤษ

Mark Scodellaro
ครูมาร์ค

“ผมเคยทำงานธนาคาร เป็นแบ็คแพ็คเกอร์ เคยทำงานที่ Kebab Joint แล้วก็เคยทำงานในเซ็กส์ช็อปด้วย” เส้นทางชีวิตของครูมาร์คฟังดูหวือหวาไม่ใช่น้อย จากโตรอนโต ถึงเมลเบิร์น และมาจบลงที่กรุงเทพฯ ครูมาร์คได้ลองทำมาแล้วแทบจะทุกอย่างที่ชีวิตและการเดินทางได้พาเขาไป

เมื่อแรกมาถึงกรุงเทพฯใหม่ๆ มาร์คเริ่มต้นด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอย่างที่ฝรั่งหลายๆคนที่มาอาศัยในบ้านเราทำกัน มาร์คเป็นครูสอนภาษาอยู่หนึ่งปีเพื่อหาเงินท่องเที่ยวในเอเชีย แต่เขารู้ตัวดีว่าการสอนหนังสือเด็กไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ในชีวิต จนเมื่อผ่านการเทรนเป็นครูสอนโยคะแล้ว เขาก็ได้รับข้อเสนอจากสตูดิโอโยคะต่างๆ และค่อยๆเปลี่ยนจากครูสอนภาษามาเป็นครูสอนโยคะ ถึงวันนี้ก็ 11 ปีเข้าไปแล้ว จริงๆแล้วมาร์คไม่ได้เพิ่งค้นพบโยคะที่นี่ แต่ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนอยู่ที่โตรอนโตในแคนาดาบ้านเกิด โดยเพื่อนเป็นคนแนะนำให้มาร์คได้รู้จักกับโยคะในคอมมูนิตี้คลาส แรกทีเดียวก็ยังไม่ถูกจริตนัก จนเมื่อลูกพี่ลูกน้องของเขาเริ่มที่จะฝึกโยคะ โยคะจึงกลายเป็นกิจกรรมสันทนาการที่ทำร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว และมาร์คเริ่มที่จะสนุกกับมัน รวมไปถึงใช้โยคะเพื่อลดความเครียดจากหน้าที่การงานในขณะนั้น ทำให้เขาหันมาฝึกโยคะบ่อยครั้งขึ้น จนโยคะได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“มันไม่มีช่วงเวลาชัดเจนที่เรารู้สึกว่า ‘โอเค โยคะนี่แหละคือคำตอบ’ แต่มันค่อยคืบคลานเข้ามาในชีวิตอย่างช้าๆ คือในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากของชีวิต ผมเริ่มหันเข้าหาโยคะมากขึ้น ยิ่งฝึกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งอยากทำมันมากขึ้นเท่านั้น โยคะช่วยให้ผมยังอยู่กับความเป็นจริง และช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น เมื่อช่วงเวลาเลวร้ายผ่านไป โยคะก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว” และนับตั้งแต่นั้นมาโยคะก็เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของมาร์คโดยสิ้นเชิง

“เมื่อก่อนผมเละเทะมาก ถึงตอนนี้ก็ยังเละเทะอยู่ แต่ไม่มากเท่าไหร่ (หัวเราะ) เพราะตอนนี้ผมมีโยคะ ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะตอนที่อยู่โตรอนโต ผมทำงานที่มีความเครียดสูง ปาร์ตี้หนัก ดื่มหนัก เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ไม่ค่อยเฮลตี้ เคยมีอาการแพนิกแอทแท็ค (Panic Attack) ตอนก่อนเข้านอน โยคะเป็นเหมือนการทำสมาธิสำหรับผม ทำให้ผมเริ่มทำอะไรช้าลง และสงบขึ้น ทำให้ผมนอนหลับสนิทขึ้น สามารถควบคุมอารมณ์และความคิดของตัวเอง และดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องร่างกายนั้น ผมสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น และเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างมั่นใจขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนซุ่มซ่ามมากๆ ตอนนี้ซุ่มซ่ามเล็กน้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากการฝึกโยคะ”

Mark Scodellaroเช่นเดียวกับหลายๆคนในช่วงเริ่มต้น การได้ทำอะไรเต็มที่คือความตื่นเต้นและท้าทาย ครูมาร์คฝึก ฝึก และ ฝึก, สอน สอน และสอน “ผมได้รับข้อเสนอมากมายจากหลายสตูดิโอ และผมรับมันหมด เวลาที่คุณเป็นหน้าใหม่ในวงการคุณก็จะเซย์เยสหมดนั่นแหละ โดยที่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะสะท้อนกลับมา หนึ่งปีผ่านไป ร่างกายก็ไม่ไหว รู้สึกแตกสลายและบอบช้ำ ผมเฝ้าถามตัวเองว่านี่ฉันกำลังทำอะไรกับร่างกายตัวเองอยู่ ซึ่งมันทำให้ผมเริ่มเกลียดการสอนโยคะ และตัดสินใจจะเลิกสอนดีไหม ตอนนั้นน่าจะอายุประมาณ 30 ได้ ผมเลยทำลิสต์รายชื่อครูที่อยากเรียนด้วย แล้วเริ่มตระเวณเรียนกับบรรดาครูเหล่านั้น หนึ่งปีให้หลังผมก็เริ่มรู้แล้วว่าจะฝึกจะสอนอย่างไรไม่ให้เจ็บตัว”

หนึ่งในครูที่สอนมาร์คคือ Dr. M.A. Jayashree และ Sri. M.A. Narasimhan ซึ่งนอกเหนือจากจะทำให้มาร์คกลับมาหลังรักโยคะอีกครั้งแล้ว ยังช่วยเรียกศรัทธาให้เขากลับมานับถือคาธอลิกอีกครั้ง “ผมเติบโตมาในโรมันคาธอลิก แต่การต่อต้านเกย์ในศาสนจักรทำให้ผมละทิ้งศรัทธาในคอธอลิก แต่ครูสอนโยคะทำให้ผมได้ทำความเข้าใจคาธอลิกในบริบทที่เป็นเหตุเป็นผลขึ้น”

ถึงทุกวันนี้ครูมาร์คก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ ไม่ได้เคร่งอะไรมากนัก ยังคงเที่ยวดื่มสังสรรค์กับเพื่อนฝูงบ้าง

“หลักการใช้ชีวิตของผมคือ ในระหว่างวันทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองแฮปปี้ ไปเข้าคลาสโยคะ ทำงาน กินอาหารที่มีประโยชน์ จะมังสวิรัติ วีแกน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่คุณรู้สึกว่าดีต่อสุขภาพตัวเอง ในขณะเดียวกัน ก็หาช่วงเวลาที่มีความสุขกับเพื่อนฝูง ออกไปเที่ยวเล่นข้างนอก มีสังคม มีเพื่อน มีครอบครัว มีความสุขกับชีวิต มันคือการหาสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้”

อัญมณี วรรณวิชย์ (ครูอันย่า)

อดีตโปรเจ็กต์แมเนเจอร์

Anya - Ashtanga Samasthiti Bangkok
ครูอันย่า

ครูอันย่าเริ่มฝึกโยคะเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยอันเกิดจากความเครียด ที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหลังและอักเสบลุกลามไปจนถึงกระเพาะอาหาร เธอจึงได้รับโจทย์ที่แสนแอ็บสแตร็คจากคุณหมอว่าห้ามเครียด ซึ่งการตีโจทย์ของเธอคือการออกกำลังกายคลายเครียด และโยคะก็คือทางเลือกนั้น จนถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลา 13 ปีแล้ว

จากนักเรียนโยคะ อันย่าเริ่มผันตัวเองมาทำคอนเท้นต์เกี่ยวกับโยคะควบคู่ไปกับการฝึก โดยเขียนคอนเท้นต์ให้กับ Ashtanga Samasthiti ที่เธอฝึกอยู่ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีความคิดเรื่องการเป็นครูสอนโยคะไม่เคยอยู่ในหัวเธอมาก่อน  แต่พอได้เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้ฝึกมา บวกกับเวลาที่คุยกับเพื่อนๆ มันเหมือนเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน ครูเน้าซึ่งสอนเธออยู่เลยชักชวนให้มาแบ่งปันประสบการณ์ที่เรียนมาให้กับคนอื่นด้วยการสอนโยคะอีกทางหนึ่ง

“จริงๆโยคะไม่เคยหายไปจากใจตลอดเวลาที่ฝึกมาสิบสามปี แต่มันเพิ่งชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นเมื่อเราคิดว่าเวลาที่เราแก่ตัวมากขึ้น อะไรที่จะอยู่กับเราจนถึงลมหายใจสุดท้ายของเราจริงๆ ถึงได้มองว่าโยคะคืออันดับหนึ่งของเรา ก็เลยคิดว่าต้องลองออกมาจากความเชื่อเดิมๆที่ว่า ฉันต้องมีงานประจำแบบนั้นแบบนี้ถึงจะมั่นคง” อันย่าจึงได้ลาออกจากอาชีพโปรเจ็กต์แมเนเจอร์ที่เธอเคยทำอยู่

ทุกวันนี้นอกเหนือจากการสอนและเขียนคอนเท้นต์เกี่ยวกับโยคะแล้ว เธอยังให้ความสนใจในเรื่องของศิลปะและงานฝีมือต่างๆ ยังรับงานฟรีแล้นซ์ที่เกี่ยวกับการดูงานดีไซน์เพิ่มเติมบ้าง อีกงานหนึ่งที่เธอกำลังสนใจก็คือเรื่องของการจัดการกับขยะ หรือ waste management “ทุกครั้งที่เห็นข่าว เกี่ยวกับเรื่องของขยะ ก็จะติดต่อไปตามหน่วยงานหรือองค์กรเหล่านี้ ขออุทิศตัวเป็นอาสาสมัคร เป็นคนที่ให้ความรู้ความเข้าใจกับคนอื่น อาจจะไม่ได้มีรายได้เยอะ แต่มันพอเพียงสำหรับเราตอนนี้ค่ะ”

ครูอันย่าสำหรับเธอแล้ว โยคะเหมือนการปฏิบัติธรรม เพราะก่อนหน้านี้ที่ทำงานประจำไปด้วย ต้องอยู่กับไซต์ก่อสร้าง ต้องคุยกับช่าง โยคะเข้ามามีผลอย่างมากกับการจัดการด้านอารมณ์และเวลา รวมไปถึงจัดการเรื่องคน เพื่อให้ทุกอย่างให้ราบรื่น และงานสำเร็จลุล่วงลงไปได้

“ถ้าให้เทียบก็เหมือนอาสนะที่เราฝึก เราเลือกไม่ได้ว่าอันไหนที่เราชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งก็เหมือนสถานการณ์ในชีวิตประจำวันที่เราเลือกไม่ได้ แต่เราจะมีวิธีการรับมือและจัดการกับมันอย่างไร ให้เรารู้สึกว่าเรายังอยู่กับมันได้ นี่คือสิ่งที่โยคะค่อยๆเข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวเราทีละนิด”

อันย่าบอกว่าตัวเองไม่ใช่แนวเข้าวัด แต่อย่างน้อยต้องถือศีลห้า

“เหมือนจะง่ายๆ แต่ยากเหมือนกันนะคะ อย่างเวลาฝึกโยคะนี่ ถ้าเทียบกับศีลข้อ 1 ก็คือเราต้องไม่ทำร้ายร่างกายตัวเอง ไม่ว่าจะใช้อาสนะท่าไหนก็ตาม สิ่งเหล่านี้มันเลยเป็นเหมือนการปฏิบัติธรรมของเรา โดยที่ไม่ต้องเดินเข้าวัด เพราะวัดอยู่ในใจเรา”

“แล้วเคร่งศาสนาไหม” เราถาม

“ไม่ได้เป็นคนเคร่งศาสนาค่ะ สิ่งที่นับถือคือธรรมชาติ เพราะธรรมะคือธรรมชาติ มันไม่มีอะไรนิ่ง ขึ้นอยู่กับเราว่าจะรับมือกับมันอย่างไร นี่คือสิ่งที่เชื่อค่ะ” เธอตอบอย่างมั่นใจ

Photo: Punsiri Siriwetchapun

(IG: poppybeauty_9)

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.